Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการผนึกกำลังของกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย โดยใช้วิธีการศึกษาทั้งแบบวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ทั้งเอกสารและการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก อีกทั้งพรรณนาวิเคราะห์ (analytical description) ผลการศึกษาเป็นไปตามสมมติฐานที่ว่าผลประโยชน์ของทั้งสามสมาคมได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงิน พ.ศ.2540 เป็นเหตุให้มาผนึกกำลังกันและผลักดันนโยบาย ในการนี้ โครงสร้างโอกาสทางการเมืองช่วงรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้“สภาที่อยู่อาศัยไทย”เป็นทางเลือกที่สามารถผลักดันเป็นนโยบายได้สำเร็จ นอกจากนั้นในการผนึกกำลังของกลุ่มผลประโยชน์กรณีของ“สภาที่อยู่อาศัยไทย”มีความสัมพันธ์กับรัฐ 2 แบบคือ 1) แบบร่วมมือ (partnership) โดยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลซึ่งกันและกัน และใช้การผลักดันทางการเมืองและการระดมให้สาธารณะชนเห็นความสำคัญของ‘อสังหาริมทรัพย์’ว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง (real economy) ได้ และ2) แบบควบคุม กำกับ ดูแล (regulator) ที่รัฐใช้สมาคมธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งสามและ“สภาที่อยู่อาศัยไทย”เป็นเครื่องมือในการผูกขาดของกลุ่มผลประโยชน์รายใหญ่ที่มีอยู่ในตลาดแล้ว ไม่ให้เกิดมีผู้ประกอบการอื่นเข้ามาแข่งขันได้ พิจารณาความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นภาคีรัฐ-สังคมแบบกึ่งเสรีนิยม (semi-liberal corporatist) เพราะมีเพียงกลุ่มผลประโยชน์ในภาคของทุนกับรัฐเท่านั้น ไม่มีภาคแรงงาน จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นรัฐที่กลุ่มผลประโยชน์ในภาคทุนยึดกุม และจึงเป็นภาคีรัฐ-สังคมแบบอำนาจนิยม (authoritarian corporatist) ควบคู่กันไป เท่ากับว่าการที่กลุ่มทุนใหญ่ซึ่งกุมอำนาจรัฐเป็นภาคีกับกลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์โดยมีแนวโน้มที่จะผูกขาดและหลอมรวมอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจเดียวกัน ตลอดจนได้สร้างกลไกและบริบทแวดล้อมให้สอดคล้องกับการพัฒนากลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ เพื่อรักษาและเพิ่มพูนความได้เปรียบในการช่วงชิงการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อสังคม พิจารณาได้เป็นภาคีรัฐ-สังคมโดยรัฐที่มีทุนเป็นใหญ่นำ (capitalist state corporatist) ได้เริ่มเกิดขึ้นในกรณีดังกล่าว