Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการปรับปรุงคุณภาพยิบซัมชนิดที่ 4 ด้วยอะคริลาไมด์ โดยทำการทดสอบปริมาณอะคริลาไมด์ที่เหมาะสม ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ที่ใช้ปริมาณของอะคริลาไมด์ที่แตกต่างกันคือ 0 (กลุ่มควบคุม) 1.5 2 2.5 และ 3 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการทดสอบ ความทนแรงอัด ระยะเวลาก่อตัว และการขยายตัวขณะแข็งตัว การทดสอบความทนแรงอัด : เตรียมชิ้นตัวอย่างรูปทรงกระบอกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 มิลลิเมตร ยาว 20 มิลลิเมตร กลุ่มละ 15 ชิ้นตัวอย่าง ทำการทดสอบค่าความทนแรงอัด ด้วยเครื่องทดสอบสากลรุ่น Instron 8872 อัตราเร็วของการเคลื่อนที่ของหัวกด 1 ม.ม./นาที ที่เวลา 1 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง ทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way Anova) และวิเคราะห์ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มตัวอย่างโดยทำการทดสอบด้วยวิธีของบอนเฟอโรนี (Bonferroni method) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 การทดสอบระยะเวลาการก่อตัว : ทำการทดสอบด้วยเครื่องทดสอบระยะเวลาการก่อตัวชนิดเข็มไวเคท (Vicat needle apparatus) กลุ่ม 5 ชิ้นตัวอย่าง และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้สถิติไคสแควร์ (Chi-square) ด้วยวิธี มอนติคาร์โล (Monte Carlo) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 การทดสอบการขยายตัวขณะแข็งตัว : ทำการทดสอบด้วยเครื่องทดสอบการขยายตัวขณะแข็งตัว (Extensometer) อ่านค่าการขยายตัวขณะแข็งตัวที่เวลา 120 นาทีภายหลังจากทำการผสมแล้วนำค่าที่ได้มาคำนวณค่าการขยายตัวขณะแข็งตัวโดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยวิธีอินดีเพนเด้นแซมเปิลทีเทส (Independent – Samples T test) และวันแซมเปิลทีเทส (One Sample T test) ที่ระดับความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 จากผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ใช้อะคริลาไมด์ 2.0% มีค่าความทนแรงอัดมากที่สุด โดยที่เวลา 1 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง มีค่ามากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) และใช้ระยะเวลาก่อตัวสั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.05) นอกจากนี้จากผลการทดสอบการขยายตัวขณะแข็งตัวก็พบว่ากลุ่มที่ใช้อะคริลาไมด์ 2.0% มีค่าการขยายตัวขณะแข็งตัวน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ดังนั้นจากการทดลองทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่าในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับยิบซัมชนิดที่ 4 ปริมาณอะคริลาไมด์ที่เหมาะสมที่สุดคือ 2.0%