Abstract:
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้ภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการสร้างเครือข่ายเพื่อ ให้บริการสุขภาพกับประชาชน โดยในการบริการขั้นปฐมภูมิได้เปิดให้คลินิกเวชกรรมเอกชน สมัครเข้าเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเรียกอีกชื่อว่า “คลินิก ชุมชนอบอุ่น” การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความยั่งยืนของหน่วยบริการปฐมภูมิเอกชน ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ศึกษาปัจจัยในการทำธุรกิจของคลินิกเวชกรรมเอกชนที่เข้าร่วม โดยสามารถให้ประชาชนได้รับบริการคุณภาพตามมาตรฐานและยังคงไว้ซึ่งความอยู่รอดเชิงธุรกิจ และศึกษาถึงเหตุผลที่คลินิกเวชกรรมเอกชนได้ออกจากการมีส่วนร่วมในหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้า โดยเป็นการศึกษาเฉพาะจังหวัดกรุงเทพมหานครซึ่งมีคลินิกเวชกรรมเอกชนเข้าร่วมเป็น จำนวนมาก ในการศึกษาเก็บข้อมูลได้สัมภาษณ์คลินิกเวชกรรมเอกชน 4 แห่ง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 โดยแยกเป็น 2 แห่งที่ยังคงให้บริการอยู่ในหลักประกันสุขภาพ ถ้วนหน้าและ 2 แห่งที่ได้ถอนตัวออก ประกอบกับสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บริหารงานประกันสุขภาพ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คลินิกเวชกรรมเอกชนมีความอยู่รอดได้ในเชิงธุรกิจ คือจำนวนประชากรที่มาขึ้นทะเบียนกับคลินิกมีมากพอ เพื่อกระจายความเสี่ยงในเรื่องของ งบประมาณที่ได้มากับอัตราการมาใช้บริการของประชากร ความเชื่อมั่นของประชากรในการ ให้บริการของคลินิกก็เป็นสิ่งสำคัญโดยการที่คลินิกลงพื้นที่ชุมชนเพื่อทำการเยี่ยมบ้านให้คำปรึกษา ทางสุขภาพนอกจากจะเป็นการดูแลป้องกันให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นการสร้าง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคลินิกและชุมชนอีกด้วย