Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินค่าพารามิเตอร์จากภาพรังสีศีรษะด้านข้างในผู้ป่วยไทยกลุ่มหนึ่งที่มีภาวะ หยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น (OSAS) ชนิดรุนแรงและที่นอนกรน วัสดุและวิธีการ กระทำการศึกษาในภาพรังสีศีรษะด้านข้างของผู้ป่วยจำนวน 190 ราย ที่เข้ารับ การรักษา ณ คลินิกโรคนอนกรน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546 ถึง 2550 และใช้ ค่าดัชนีการหายใจขัดข้อง (respiratory disturbance index, RDI) แบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีค่า RDI น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ครั้ง/ชั่วโมง (กลุ่มนอนกรน) และกลุ่มที่มีค่า RDI มากกว่าหรือเท่ากับ 30 ครั้ง/ชั่วโมง (กลุ่ม OSAS ชนิดรุนแรง) แล้วเก็บข้อมูลทางประชากรศาสตร์ และข้อมูลพารามิเตอร์จำนวน 9 ค่าจากภาพรังสี และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติอินดิเพนเดนต์ ที-เทสต์ ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 ผลการศึกษา พารามิเตอร์ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่มนอนกรนกับกลุ่ม OSAS ชนิดรุนแรง คือ SNA และ MP-H ในผู้ป่วยชาย และ UT-PhW และ MP-H ในผู้ป่วยหญิง การวิเคราะห์ข้อมูลแสดงว่า การจำแนกผู้ป่วย 2 กลุ่มออกจากกันให้ใช้พารามิเตอร์หลายค่าร่วมกัน คือ ผู้ป่วยชายซึ่งมี OSAS ชนิดรุนแรง จำแนกได้จากพารามิเตอร์ 6 ค่าร่วมกัน (SNA, SNB, ATA-PNS, UT-PhW, UT-PNS และ MP-H) ในขณะที่ผู้ป่วยหญิงซึ่งมี OSAS ชนิดรุนแรง จำแนกได้จากพารามิเตอร์ 5 ค่าร่วมกัน (SNA, ATA-PNS, UT-PhW, UT-PNS และ MP-H) สรุป ลักษณะภาพรังสีศีรษะด้านข้างของผู้ที่มี OSAS ชนิดรุนแรงแตกต่างจากของผู้ที่นอนกรน โดย ผู้ป่วยชายมีขากรรไกรบนที่อยู่ในตำแหน่งด้านหลังกว่าปกติ ร่วมกับกระดูกไฮออยด์ที่อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าปกติ ส่วนผู้ป่วยหญิงมีช่องว่างระหว่างปลายเพดานอ่อนกับผนังคอหอยด้านหลังที่แคบกว่าปกติ ร่วมกับ กระดูกไฮออยด์ที่อยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าปกติ นอกจากนี้ ควรใช้พารามิเตอร์หลายค่าร่วมกันเป็นเกณฑ์จำแนก ผู้ป่วย OSAS ชนิดรุนแรง