Abstract:
การศึกษานี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบคุณสมบัติ ความคิดเห็น ระดับความพึงพอใจของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ณ สถานพยาบาลที่แตกต่างกัน ได้แก่ โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน มูลนิธิและองค์กรการกุศล โดยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ของหน่วยไตเทียมที่เป็นหน่วยงานของรัฐขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและคลินิกเอกชนขนาดใหญ่ ส่วนมูลนิธิและองค์กรการกุศล ได้แก่ คลินิกมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง เวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม การศึกษายังรวมไปถึง การวิเคราะห์ต้นทุนเบื้องต้นและการมาร์กอัปราคาค่าบริการในสถานพยาบาลที่แตกต่างกันทั้ง 3 แห่ง ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง เวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม คือ ผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย และผู้ป่วยที่เบิกประกันสังคม ผู้ป่วยที่มารับการบริการจากคลินิกมูลนิธิจะได้รับการบริการที่ดีเทียบเท่ากับโรงพยาบาลของรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน โดยค่าบริการของคลินิกมูลนิธิฯถูกว่าโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชน โดยคลินิกมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง เวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม คิดค่าบริการครั้งละ 1,200 บาท ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐคิดค่าบริการครั้งละ 2,000 บาท และคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนคิดค่าบริการครั้งละ 1,500 – 3,500 บาท ส่วนการวิเคราะห์ต้นทุนและมาร์กอัปราคา ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนของคลินิกมูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง เวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม คิดราคาค่าบริการที่ต้นทุนการรักษาพยาบาลจริง ๆ ไม่มีการมาร์กอัปราคา โดยคลินิกมูลนิธิฯ คิดค่ารักษาใกล้เคียงกับต้นทุนผันแปรที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจาก ได้รับการบริจาค จึงไม่มีต้นทุนเครื่องอุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ การบำบัดรักษาโรคไตระยะสุดท้ายเป็นบริการที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยโรคไต การลงทุนเพื่อให้บริการดังกล่าวก่อประโยชน์อย่างสูงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตต่อผู้ป่วยและเป็นการให้สวัสดิการสังคม เนื่องจากหน่วยบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คลินิกมูลนิธิฯ ให้บริการด้วยเครื่องฟอกไตเทียมแก่ผู้ป่วยด้วยการไม่แสวงหากำไรแต่สนองตอบความจำเป็นด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ด้อยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของคลินิกมูลนิธิฯเพื่อให้โอกาสเข้าถึงบริการ ซึ่ง เป็นสวัสดิการทางสังคมที่มีความสำคัญมากกว่ากำไรทางธุรกิจ โดยเป็นกำไรเชิงสวัสดิการและความเท่าเทียมกันในสังคม การดำเนินงานของคลินิกมูลนิธิฯจึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งต่อการเสริมความเป็นธรรมของระบบสุขภาพ