Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาประวัติธุรกิจทำผมจากอดีตถึงปัจจุบัน 2. เพื่อศึกษานโยบายของรัฐที่มีผลกระทบต่อธุรกิจทำผม และ 3. เพื่อศึกษาแนวทางในการจัดตั้งสภาช่างผมไทย ระเบียบวิธีการวิจัย เป็นการศึกษาโดยใช้การพรรณนาวิเคราะห์ (Descriptive Analysis) เกี่ยวกับสถาบันและองค์การที่มีบทบาทในธุรกิจทำผมในประเทศไทย ซึ่งได้อาศัยกรอบความคิดจากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของ Joseph Schumpeter จากนั้นศึกษาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจทำผม พฤติกรรมการทำผม และแนวทางในจัดตั้งสภาช่างผมไทย จากการศึกษาประวัติความเป็นมาของอาชีพช่างตัดผม ทำให้ทราบว่าอาชีพช่างตัดผมในสมัยก่อนมิได้มีร้านตัดผมอย่างในปัจจุบัน แต่มีการถืออุปกรณ์การตัดผมเดินางไปตามสถานที่ต่างๆ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีร้านตัดผมของคนไทยเกิดขึ้น จากนั้นเริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนและสถาบันเพื่อสอนอาชีพตัดผมให้คนทั่วไปอย่างแพร่หลาย วิวัฒนาการของช่างตัดผมกลายเป็นร้านตัดผมที่เป็นธุรกิจทำผม จากกรณีศึกษาร้านชลาชล ได้นำนวัตกรรมทางความคิดมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจทำผม และส่งเสริมให้ธุรกิจทำผมเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างดี จากการวิจัยพบว่า ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการส่งเสริมให้อาชีพช่างตัดผมเป็นอาชีพสงวนของคนไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2481 จนถึง พ.ศ. 2542 รัฐจึงยุติคุ้มครองให้เป็นอาชีพสงวน เนื่องจาก มีการเปิดโอกาสให้บุคคลต่างด้าวหรือนิติบุคคลต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจทุกประเภทที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายร่างพระราชบัญญัติ ด้วยการยื่นคำขออนุญาตจากรัฐมนตรีหรืออธิบดี ทั้งนี้เป็นไปตามความกดดันของ IMF ที่ต้องการให้ไทยเปิดเสรีทางการค้าในเกือบทุกด้าน ช่างตัดผมในประเทศไทยควรได้รับใบรับรองที่เป็นมาตรฐานสากลในการประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการยกระดับอาชีพช่างตัดผม ซึ่งในการออกใบรับรองมาตรฐานควรได้รับการสนับสนุนจากกรัฐบาลเพื่อคุ้มครองช่างตัดผมที่เคยเป็นอาชีพสงวนให้ยังเป็นอาชีพสำหรับคนไทยต่อไป และยังสามารถผลิตบุคลากรให้เป็นอาชีพบริการที่มีคุณภาพ จึงเห็นควรเสนอแนวทางจัดตั้งสภาช่งผมเพื่อยกระดับและคุ้มครองวิชาช่างผมให้คงอยู่ต่อไป