Abstract:
สภาพสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันทำให้การใช้ชีวิตของคนเมืองเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงรูปแบบการบริโภคความสะดวกรวดเร็วมีอิทธิพลกำหนดรูปแบบการบริโภคของประชากร ผู้ประกอบการร้านอาหารเห็นถึงช่องทางการประกอบธุรกิจ เพื่อตอบสนองการดำเนินกิจกรรมที่ต้องแข่งขันกับเวลาดังกล่าวทำให้ธุรกิจอาหารจานด่วน (Quick Served Restaurant:QSR) หรือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast-Food Restaurant) มีบทบาทสำคัญและกลายเป็นวิถีหนึ่งของประชากรในเมืองกรุง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกบริโภคฟาสต์ฟู้ด ของผู้บริโภค ฟาสต์ฟู้ดที่ทำการศึกษาในครั้งนี้คือฟาสต์ฟู้ดแบบตะวันตก เก็บข้อมูลโดยการออกแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคกลุ่มคนทำงาน นักเรียนและนักศึกษารวม 322 ตัวอย่าง และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณา (Descriptive Statistic) และสถิติเชิงอนุมาน (Inference Statistic) คือ การวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุ (Multiple Regression Analysis) ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยต่อไปนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภคฟาสต์ฟู้ดของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย การมีบุตรอาศัยอยู่ร่วมกัน รายได้เฉลี่ยต่อเดือน ค่าใช้จ่ายอาหารทดแทนเมื่อไม่บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด จำนวนผู้ใช้บริการร่วมแต่ละครั้ง โปรโมชั่นพิเศษ อายุ การรับทราบสื่อโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ ลักษณะที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมีเนียม และสัญลักษณ์มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร การทดสอบทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างต่อการให้บริการ วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงคุณภาพอื่น ๆ ที่มีอิทธิต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค เช่น ความสะดวกของการใช้บริการ รสชาติอาหาร ความเหมาะสมของระดับราคาอาหาร การให้บริการของพนักงาน ฯลฯ ในที่นี่รวมถึงสภาพปัญหาที่พบเจอขณะใช้บริการ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีทัศนคติด้านความเหมาะสมการให้บริการของผู้ประกอบการระดับปานกลาง ในขณะที่ปัญหาที่พบจากการใช้บริการ เช่น กริยาวาจาของเจ้าหน้าที่ร้าน ความล่าช้าของการให้บริการ ฯลฯ อยู่ในเกณฑ์น้อย