Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาสถานการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดูแลสุขภาพของสตรีสูงอายุ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสตรีสูงอายุ และ 3) เพื่อแสวงหาแนวทางการคุ้มครองสุขภาพของผู้สูงอายุในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลและวิธีการวิเคราะห์ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณโดยการสัมภาษณ์สตรีสูงอายุที่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสตรีสูงอายุที่ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนทั้งสิ้น 1,040 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบง่าย และการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรวม 20 คน ทั้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักโภชนาการ ผู้สูงอายุ และผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผลการวิจัยพบว่า สตรีสูงอายุมีความชุกของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร้อยละ 31.49 และในการวิเคราะห์ถดถอยไบนารี่โลจิสติคด้วยวิธี enter method ตัวแปรอิสระ 16 ตัวสามารถอธิบายการแปรผันของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสตรีสูงอายุได้ร้อยละ 34.2 และเมื่อใช้วิธี forward stepwise (wald) method ตัวแปรอิสระ 8 ตัว สามารถอธิบายการแปรผันของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสตรีสูงอายุได้ร้อยละ 33.6 โดยตัวแปรที่สามารถอธิบายการแปรผันของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสตรีสูงอายุได้ดีที่สุดคือการแนะนำโดยผู้ใกล้ชิดและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ (ร้อยละ 19.6) รองลงมาคือการได้รับการกระตุ้นให้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากการขายตรง (ร้อยละ 4.0) ความถี่ของการได้รับข้อมูลข่าวสาร (ร้อยละ 3.8) การมีเงินออม (ร้อยละ 2.8) ภาวะโภชนาการ (ร้อยละ 1.3) แรงจูงใจด้านสุขภาพ (ร้อยละ 0.8) รายได้ (ร้อยละ 0.7) และขนาดครอบครัว (ร้อยละ 0.6) จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า แนวทางการคุ้มครองผู้สูงอายุในการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้สมเหตุผลนั้น ควรมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีการบริหารจัดการระบบการดูแลสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ การจัดการความรู้ด้านโภชนาการ และการจัดทำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร