Abstract:
ความล่าช้าในการแสดงผลเป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานกับระบบ หากความล่าช้าเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง อีกทั้งความล่าช้าที่เพิ่มขึ้นนั้น ยังส่งต่อความรู้สึกของผู้ใช้ที่มีต่อระบบนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ผู้พัฒนาระบบสารสนเทศจึงได้นำข้อมูลป้อนกลับมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้านี้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมุ่งศึกษาผลกระทบของ (1) ความล่าช้าในการแสดงผล (2) การใช้ข้อมูลป้อนกลับ และ (3) รูปแบบของเมนู ที่มีต่อ (1) ความถูกต้องของการใช้งานระบบ (Correctness) (2) การรับรู้ถึงความหน่วง (Perception of Delay) หรือ (3) ความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบ (Satisfaction) ซึ่งวัดจากคะแนนที่ได้จากการทำโจทย์และจากการตอบแบบสอบถามของหน่วยทดลอง งานวิจัยนี้ได้เลือกหน่วยทดลองที่เป็นนิสิตปริญญาตรีของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนทั้งหมด 356 คน โดยทดลองผ่านเว็บไซต์ http://moviesearch.acc.chula.ac.th ผลการวิเคราะห์ พบว่า ผลกระทบของความล่าช้าในการแสดงผลต่อ (1) ความถูกต้องของการใช้งานระบบ (2) การรับรู้ถึงความหน่วง และ (3) ความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบ มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ทว่าการใช้ข้อมูลป้อนกลับและรูปแบบของเมนูไม่มีผลกระทบต่อ (1) ความถูกต้องของการใช้งานระบบ (2) การรับรู้ถึงความหน่วง และ (3) ความพึงพอใจของผู้ใช้งานระบบ งานวิจัยนี้ช่วยต่อยอดทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ในบริบทของผู้ใช้ในประเทศไทย และยังเป็นประโยชน์ต่อผู้พัฒนาเว็บไซต์ที่สามารถใช้ข้อค้นพบเพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้เหมาะสมและมีความสามารถใช้งานได้