Abstract:
การศึกษาผลของการให้เคตามีนเข้าช่องเหนือเยื่อดูราต่อระดับของไอโซฟลูเรนระหว่างการทำศัลยกรรมขาหลังในสุนัข 30 ตัวซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 10 ตัว ภายหลังเตรียมการสลบด้วยการฉีดเอซโปรมาซีนขนาด 0.05/กก. ร่วมกับมอร์ฟีน 0.3 มก./กก. เข้ากล้ามเนื้อ และชักนำสลบด้วยโปรโปฟอลขนาด 4 มก./กก. ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แล้วจึงฉีดน้ำเกลือ 1 มล./นน. ตัว 4.5 กก.เข้าช่องเหนือเยื่อดูราของไขสันหลังในสุนัขกลุ่มที่ 1 (กลุ่มควบคุมลบ) เคตามีน 4 มก./กก.ผสมกับน้ำเกลือให้มีปริมาตร 1 มล./นน. ตัว 4.5 กก.ในสุนัขกลุ่มที่ 2 (กลุ่มทดลอง) และบิวพิวาเคน 0.5% 1 มล./นน.ตัว 4.5 กก. ในกลุ่มที่ 3 (กลุ่มควบคุมบวก) ปรับและบันทึกความเข้มข้นของยาดมสลบไอโซฟลูเรนในระหว่างการทำศัลยกรรมที่ระดับน้อยที่สุดที่ทำให้สุนัขมีความลึกของการสลบเพียงพอสำหรับทำการผ่าตัดได้ ทุก 5 นาทีเป็นเวลา 60 นาที ควบคุมระดับความดันของคาร์บอนไดออกไซด์ในลมหายใจออกระหว่าง 30-35 มม. ปรอทตลอดการผ่าตัด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดแดงและเปอร์เซ็นตร์ของฮีโมโกลบินที่จับกับออกซิเจนตั้งแต่ก่อนและภายหลังให้ยาเตรียมการสลบ และทุก 5 นาทีตลอด 60 นาทีของการทำศัลกรรม จากการเปรียบเทียบค่าสัญญาณชีพที่ทำการวัดทุกค่าของสุนัขทั้ง 3 กลุ่ม พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของยาดมสลบไอโซฟลูเรนในช่วง 15, 30, 45 และ 60 นาทีแรกของการผ่าตัดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ระหว่างสุนัขกลุ่มที่ 1 และ 2 และระหว่างกลุ่มที่ 1 และ 3 แต่ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ระหว่างสุนัขกลุ่มที่ 2 และ 3 โดยพบว่าสุนัขกลุ่มที่ 2 และ 3 ใช้ความเข้มข้นของยาดมสลบน้อยกว่าความเข้มข้นที่ใช้ในกลุ่มที่ 1 ประมาณ 33% และ 38% ตามลำดับจากการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าการให้เคตามีนฉีดเข้าช่องเหนือเยื่อดูราสามารถลดปริมาณการใช้ยาดมสลบไอโซฟลูเรนในสุนัขที่เข้ารับการทำศัลยกรรมขาหลังและไม่มีผลกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือด