Abstract:
งานศึกษาชิ้นนี้มุ่งศึกษากระบวนการกลายเป็นสินค้าของบริการทางด้านการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งด้านพัฒนาการ การดำรงอยู่ รวมไปถึงการขยายตัวที่เกิดขึ้น ภายใต้บริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ศึกษารูปแบบของการบริหารจัดการบริการทางด้านการศึกษา เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบริบทที่การศึกษากลายเป็นสินค้าชนิดหนึ่งในระบบตลาด โดยอาศัยการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การครอบงำของแนวคิดกระแสทุนนิยม ส่งผลสู่การกลายเป็นสินค้าของการศึกษา ทำให้การศึกษาอยู่ในรูปของการซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยการศึกษาอยู่ในฐานะสินค้าบริการอย่างหนึ่ง และจะมีความสำคัญต่อผู้ผลิตบริการในเชิงของรายได้ การให้บริการจัดการศึกษาที่ถูกผลิตเพื่อแลกเปลี่ยน เพื่อขายในตลาด หรือรูปแบบการศึกษาที่เป็นลักษณะของการจ้างวาน จะมีผู้ผลิตที่รับผิดชอบดำเนินธุระในการจัดการศึกษาให้แก่ผู้เข้าศึกษาแลกเปลี่ยนกับเงินค่าดำเนินการ โดยผู้ผลิตในงานการศึกษาชิ้นนี้ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งดำเนินการในรูปแบบของการผลิตหลักสูตรพิเศษต่างๆ ผลจากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ในปัจจุบันบริการการศึกษาในหลักสูตรพิเศษต่างๆเกือบทุกหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีลักษณะเป็นสินค้าอย่างเด่นชัด เนื่องด้วยมีผู้ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาต่อ กลายเป็น ผู้ซื้อ และมีมหาวิทยาลัยกลายเป็นผู้ให้บริการทางการศึกษา(ผู้ต้องการขาย) ทำให้มีระบบตลาดเกิดขึ้น มี การกำหนดราคาค่าเล่าเรียนตามกลไกตลาด รวมทั้งยังมีการผลิตซ้ำ(Reproduction) บริการการศึกษาโดยอาศัยพลังการผลิต หรือเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างก้าวหน้า ซึ่งทำให้การเรียนมีมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) แม้ว่าจะอยู่ต่างหลักสูตรกัน อันก่อให้เกิดการผลิตหลักสูตรเป็นแบบอุตสาหกรรม (Mass Product) กล่าวคือ มีการกำหนดหลักสูตรพิเศษต่างๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก เช่นการเพิ่มภาคพิเศษที่เรียนตอนเย็น หรือเรียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ เพื่อให้ได้จำนวนคอร์สเรียนมากที่สุด ในเวลาเรียนที่มีอยู่อย่างจำกัด และยังมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้ลูกค้ามาสมัครเรียน ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital Accumulation) เพื่อขยายกิจการ หรือขยายสาขาหลักสูตรพิเศษอันก่อให้เกิดกำไรเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีหลักสูตรพิเศษบางหลักสูตร ที่พบข้อจำกัดบางประการ ทำให้ผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ ไม่สามารถทำการผลิตซ้ำเพื่อสะสมทุนได้ ไม่สามารถเห็นถึงภาพของการเป็นสินค้า แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ยังคงผลิตอยู่ในปัจจุบัน เพื่อถ่ายทอดความรู้ตามหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ดี