Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนผู้สอบบัญชี และความเห็นของผู้สอบบัญชีในปีก่อน กับการจัดการกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้รายการคงค้างที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารเป็นตัววัดการจัดการกำไร ซึ่งคำนวณจากตัวแบบจำลอง Cross-sectional Modified Jones (1991) ทั้งจากการคำนวณรายการคงค้างทั้งหมดโดยใช้แนวคิดงบดุล และแนวคิดกระแสเงินสด ประชากรที่ศึกษา คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีในระหว่างปี 2544 - 2549 ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเงิน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประจักษ์ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน โดยการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ ผลการวิจัยพบว่า ณ ระดับความเชื่อมั่น 95% การจัดการกำไรไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีทั้งในการคำนวณรายการคงค้างที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารโดยใช้แนวคิดงบดุล และแนวคิดกระแสเงินสด นอกจากนี้ในการทดสอบซึ่งคำนวณรายการคงค้างที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารโดยใช้แนวคิดงบดุลพบว่าการจัดการกำไรไม่มีความสัมพันธ์กับความเห็นของผู้สอบบัญชีในปีก่อน อย่างไรก็ตามตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กันเมื่อใช้แนวคิดกระแสเงินสด อนึ่ง ผลการทดสอบตัวแปรควบคุมพบว่า อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน การเปลี่ยนแปลงในกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ และขนาดของบริษัท มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการจัดการกำไร