Abstract:
วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการรั่วซึมของวัสดุบูรณะคลาสไฟฟ์โดยใช้สายยึดเรซินชนิดต่างๆ ทางด้านเคลือบฟันและเคลือบรากฟันก่อนและภายหลังการผ่านแบบจำลองการเกิดฟันผุ วิธีการทดสอบ เตรียมโพรงฟันรูปคลาสไฟฟ์บนด้านตามแกนแต่ละด้านของฟันกรามแท้มนุษย์โดยขอบใกล้ด้านบดเคี้ยวอยู่บนเคลือบฟันและขอบใกล้คอฟันอยู่บนเคลือบรากฟัน จากนั้นบูรณะด้วยเรซินคอมโพสิตหรืออะมัลกัมโดยใช้สายสารยึดเรซินแตกต่างกันดังนี้ ซูเปอร์บอนด์ซีแอนด์บีที่ทำการปรับสภาพฟัน 10 30 และ 60 วินาที ซูเปอร์บอนด์ดีไลน์เนอร์ทูพลัส เอคิวบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ทู เคลียร์ฟิลโพรเทคบอนด์ ออลบอนด์ทู เคลียร์ฟิลเมก้าบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ และกลุ่มที่ไม่ใช้สารยึดเรซิน จากนั้นเคลือบผิวฟันทั้งหมดด้วยยาทาเล็บยกเว้นบริเวณขอบใกล้ด้านบดเคี้ยว และขอบใกล้คอฟันห่างออกไป 1 ม.ม. นำฟันกลุ่มที่ใช้สารยึดเรซินซูเปอร์บอนด์และซูเปอร์บอนด์ดีไลน์เนอร์ทูพลัสแช่น้ำลายเทียมและสารละลายบัฟเฟอร์แลคติก 0.1 โมล และฟันกลุ่มที่เหลือแช่สารละลายบัฟเฟอร์แลคติก 0.1 โมล นาน 14 วัน แล้วนำฟันทั้งหมดแช่ในสารละลายเบสิกฟุชชินร้อยละ 0.5 นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นตัดผ่านกลางวัสดุบูรณะในแนวดิ่งเพื่อวัดระยะการรั่วซึมและระยะการแทรกซึมของสีย้อมทางด้านเคลือบฟันและทางด้านเคลือบรากฟัน เตรียมฟันที่บูรณะกลุ่มละ 1 ตัวอย่างเพื่อศึกษาลักษณะรอยต่อภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนชนิดส่งกราด ผลการทดลอง ไม่พบการรั่วซึมทางด้านเคลือบฟันและเคลือบรากฟันในกลุ่มซูเปอร์บอนด์ 10 วินาที และซูเปอร์บอนด์ 60 วินาทีมีค่ามากกว่ากลุ่มซูเปอร์บอนด์ 30 วินาทีอย่างมีนัยสำคัญแต่ก่อนและหลังการผ่านแบบจำลองการเกิดฟันผุมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ก่อนการผ่านแบบจำลองการเกิดฟันผุไม่พบการแทรกซึมของสีย้อมในเคลือบฟันและเคลือบรากฟัน แต่หลังผ่านแบบจำลองการเกิดฟันผุพบการแทรกซึมของสีย้อมในเคลือบฟัน 1 ชิ้นในกลุ่มเคลียร์ฟิลเมก้าบอนด์ (0.004±0.013 ม.ม.) ส่วนในเคลือบรากฟันมีการแทรกซึมของสีย้อมทุกกลุ่มโดยมีค่าเฉลี่ย 0.169±0.045 ม.ม. กลุ่มที่ไม่พบการรั่วซึมทั้งทางด้านเคลือบฟันและด้านเคลือบรากฟันหลังผ่านแบบจำลองการเกิดฟันผุคือกลุ่มซูเปอร์บอนด์ 10 วินาที ซูเปอร์บอนด์ดีไลน์เนอร์ทูพลัส และกลุ่มเอคิวบอนด์ ส่วนกลุ่มเคลียร์ฟิลโพรเทคบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ เคลียร์ฟิลเมก้าบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ทู ออลบอนด์ทูและกลุ่มที่ไม่ใช้สารยึดเรซิน มีการรั่วซึมทั้งทางด้านเคลือบฟันและด้านเคลือบรากฟันทั้งสิ้นโดยด้านเคลือบรากฟันมีค่าการรั่วซึมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลักษระชั้นรอยต่อภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนชนิดส่องกราดพบว่ากลุ่มซูเปอร์บอนด์ 10 วินาที ซูเปอร์บอนด์ดีไลน์เนอร์ทูพลัส และเอคิวบอนด์มีชั้นไฮบริดที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้งก่อนและหลังแช่กรดไฮโดรคลอริกและสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ กลุ่มซูเปอร์บอนด์ 30 และ 60 วินาทีมีชั้นไฮบริดบางลงภายหลังจากแช่กรดไฮโดรคลอริกและสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ กลุ่มเคลียร์ฟิลโพรเทคบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ เคลียร์ฟิลเมก้าบอนด์ ซิงเกิลบอนด์ทูและออลบอนด์ทูไม่พบชั้นรอยต่อที่สมบูรณ์และชัดเจนภายหลังจากแช่กรดไฮโดรคลอริกและสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ สรุปผลการทดลอง ในการบูรณะฟันควรอนุรักษ์เคลือบฟันไว้ให้มากที่สุดเพราะเคลือบฟันสามารถต่อต้านการเกิดฟันผุได้ดีกว่าเนื้อฟันมาก การบูรณะฟันโดยไม่เกิดการรั่วซึมทำได้โดยทำให้เกิดรอยต่อชั้นไฮบริดที่สมบูรณ์ การบูรณะที่เกิดการรั่วซึมในชั้นสเมียร์และในดีมิเนอรอลไลช์เดนทีนที่หลงเหลือจะเป็นทางผ่านของสีย้อมและกรดแลคติกซึ่งนำไปสู่การเกิดฟันผุซ้ำได้