Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิง ในครอบครัวของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัว กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ คือประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนของกรุงเทพมหานคร ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเลือกตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ได้จำนวนตัวอย่าง 568 คน การศึกษาครั้งนี้พบว่าประชาชนในกรุงเทพมหานครที่เป็นตัวอย่าง ส่วนใหญ่มีแนวโน้ม ไม่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัว และเห็นว่าเป็นปัญหาสังคมที่ควรแก้ไข โดยผล การวิเคราะห์ถดถอยแบบง่าย พบว่า เพศหญิง ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า ผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่า ผู้มีสถานภาพสมรสโสด ผู้ประกอบอาชีพรับราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ทัศนคติเชิงบวก ต่อบทบาทเพศในครอบครัว ทัศนคติเชิงบวกต่อความเสมอภาคทางเพศในสังคม ผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงมากกว่า และการได้รับข่าวสารเกี่ยวกับ ความรุนแรงในครอบครัวมากกว่า มีความคิดเห็นเชิงไม่ยอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุพบว่า ตัวแปรอิสระทั้ง 11 ตัว สามารถอธิบายการผันแปรของความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวได้ร้อยละ 33.1 และผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุขั้นตอน พบว่า ทัศนคติต่อความเสมอภาคทางเพศในสังคม สามารถอธิบายการแปรผันของ ความคิดเห็นเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในครอบครัวได้ดีที่สุด คือร้อยละ 26.9 รองลงมา คือ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิง สามารถอธิบายความแปรผันเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ถัดไปคือ การศึกษา ประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว สามารถอธิบายความแปรผันเพิ่มขึ้นได้เท่ากัน คือร้อยละ 1.1 และทัศนคติต่อบทบาทเพศในครอบครัว สามารถอธิบายความแปรผันได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 ตามลำดับ