Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของประชากรที่มีรายได้น้อยในโครงการบ้านเอื้ออาทร ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการประยุกต์ใช้แนวการศึกษาทฤษฎีเชิงระบบเกี่ยวกับสาเหตุและแนวคิดของคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอของ Hagerty et al. (2001) ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตกับตัวแปรภายนอกและตัวแปรภายใน ประกอบด้วย ตัวแปรอิสระในระดับปัจจัยนำเข้า (ลักษณะของประชากรเป้าหมาย) และตัวแปรอิสระในระดับปัจจัยผ่าน (ทางเลือกของบุคคลจากกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัย) กับตัวแปรตามซึ่งเป็นปัจจัยผลผลิตหรือคุณภาพชีวิต โดยการเลือกตัวอย่างจากประชากรในโครงการบ้านเอื้ออาทรรังสิตคลองสาม รังสิตคลองห้า บางโฉลง ประชานิเวศน์และหัวหมาก รวมทั้งสิ้น 664 ตัวอย่าง ซึ่งให้ค่าความเชื่อมั่นที่ระดับ .95 และใช้วิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม
ผลการศึกษาพบว่าระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างมีค่าอยู่ในระดับปานกลาง โดยมีค่าเฉลี่ย 3.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน และตัวแปรอิสระรวมทั้งสิ้น 22 ตัวแปรสามารถอธิบายการแปรผันของคุณภาพชีวิตได้ร้อยละ 20.8 โดยเมื่อควบคุมตัวแปรอิสระตัวอื่นๆ แล้วพบว่า คุณภาพชีวิตแปรผันตามรายได้ สถานภาพสมรสสมรสและเพศหญิง และแปรผกผันกับสถานภาพการครอบครองที่อยู่อาศัยเดิมที่เป็นแฟลตเช่า และองค์ประกอบของครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีอยู่ในความดูแล ซึ่งเป็นตัวแปรในระดับปัจจัยนำเข้า และแปรผันตามความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิต การมีโอกาสหารายได้พิเศษเพิ่มขึ้น ระยะเวลาในการออกกำลังกาย และความคาดหมายที่จะอยู่อาศัยในโครงการตลอดไป และแปรผกผันกับปัญหาและอุปสรรคในการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นตัวแปรในระดับปัจจัยผ่าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากข้อค้นพบ พอสรุปได้ว่า การเพิ่มศักยภาพในการมีรายได้ที่สูงขึ้น การมีครอบครัวในรูปแบบการสมรส การมีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีอยู่ในความดูแลในจำนวนที่เหมาะสม การจัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะระหว่างโครงการกับแหล่งงานหรือชุมชนเมืองอย่างเพียงพอ การมีระบบรักษาความปลอดภัย และการให้บริการชุมชนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างโอกาสในการหารายได้พิเศษ และการส่งเสริมกิจกรรมการออกกำลังกาย น่าจะเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างให้ดีขึ้น