Abstract:
การศึกษาครั้งนี้เป็นการเปรียบเทียบกำลังแรงยึดแบบดึงระดับจุลภาคระหว่างซี่ฟันเทียมอะคริลิกและฐานฟันเทียมอะคริลิกชนิดบ่มด้วยความร้อนภายหลังการปรับสภาพผิวทางเคมี โดยจะใช้ซี่ฟันเทียมผลิตภัณฑ์เมเจอร์เดนท์และผลิตภัณฑ์คอสโมเอชเอกซ์แอลจำนวนผลิตภัณฑ์ละ 60 ซี่ นำมาขัดบริเวณด้านประชิดเหงือกของซี่ฟันเทียมให้เรียบแล้วยึดติดกับขี้ผึ้งจากนั้นนำไปลงภาชนะหล่อแบบแล้วไล่ขี้ผึ้งออก แบ่งชิ้นงานเป็นผลิตภัณฑ์ละ 6 กลุ่มกลุ่มละ 10 ชิ้น กลุ่มที่ 1 คือกลุ่มควบคุมสามารถนำไปอัดอะคริลิกได้เลย กลุ่มที่ 2 ทาบริเวณด้านประชิดเหงือกของฟันเทียมด้วยส่วนเหลวของฐานฟันเทียมเป็นเวลา 15 วินาที กลุ่มที่ 3 ถึง 6 ทาด้วยสารละลายผสมระหว่างเมทิลฟอร์เมตกับเมทิลอะซิเตตในอัตราส่วน 25:75, 40:60, 55:45, 70:30 โดยปริมาตรตามลำดับเป็นเวลา 15 วินาที จากนั้นทำการอัดอะคริลิก นำชิ้นงานที่ได้มาตัดให้เป็นรูปมินิดัมเบลล์แล้วนำไปแช่ในน้ำกลั่นที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทดสอบโดยใช้เครื่องทดสอบแรงดึงแรงอัด ทำการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยกำลังแรงยึดด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทางและทางเดียวที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 พบว่าการปรับสภาพผิวและชนิดของซี่ฟันเทียมมีผลต่อกำลังแรงยึดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่ากลุ่มที่ได้รับการปรับสภาพผิวจะมีค่ากำลังแรงยึดแบบดึงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการปรับสภาพผิวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ยกเว้นกลุ่มที่ทาสารละลายอัตราส่วน 70:30 ในการปรับสภาพผิวแต่ละแบบ ชนิดของซี่ฟันเทียมไม่มีผลต่อกำลังแรงยึดแบบดึง (p>0.05)