Abstract:
ศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของชายรักชายที่ไม่เปิดเผยความโน้มเอียงทางเพศของตนเองต่อครอบครัว โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความ มีผู้ให้ข้อมูลจำนวน 9 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเด็นหลักดังนี้ 1) การรับรู้ต่อตนเอง พบว่าผู้ให้ข้อมูลทุกรายมีความชัดเจนว่าตนเป็นชายรักชาย และส่วนใหญ่มีความรู้สึกทางลบต่อการเป็นชายรักชาย 2) การรับรู้ภายในบริบทของครอบครัว พบว่า ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่รับรู้ท่าทีไม่ยอมรับชายรักชายจากพ่อ แต่รับรู้ท่าทียอมรับจากแม่หรือพี่สาว มีความรู้สึกทางลบท่ามกลางการไม่เปิดเผยตนเองต่อครอบครัว มองว่าการเปิดเผยต่อครอบครัวไม่ใช่เรื่องจำเป็น และมองว่าการเปิดเผยต่อครอบครัวนั้นยากกว่าการเปิดเผยกับเพื่อน 3) การรักษาสมดุลในภาวะที่เป็นอยู่ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีความตั้งใจและมีพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้สมาชิกในครอบครัวทราบว่าตนเป็นชายรักชาย โดยบางรายมีการรักษาสมดุลทางจิตใจ นอกจากนี้ ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่วางแผนไว้ว่าตนจะเปิดเผยตนเองต่อครอบครัวเมื่อมีคู่รักยืนยาว หรือสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ และ 4) การรับรู้สภาพแวดล้อมภายนอกครอบครัว พบว่า ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มีการเปิดเผยตนเองกับบุคคลนอกครอบครัวโดยใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูด รับรู้ถึงการยอมรับจากบุคคลนอกครอบครัว และรับรู้การสนับสนุนทางสังคมจากบุคคลที่เป็นชายรักชายหรือเพศทางเลือก ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตใจของชายรักชายที่ไม่เปิดเผยตนเองต่อครอบครัว และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้เกี่ยวข้องที่จะนำไปใช้พัฒนาบริการปรึกษาแก่ชายรักชายต่อไป เช่น การพัฒนาโปรแกรมกลุ่มการปรึกษาเชิงจิตวิทยา สำหรับส่งเสริมการวางแผนการเปิดเผยตนเองต่อครอบครัวของชายรักชายในอนาคต