Abstract:
ศึกษาประสบการณ์ทางจิตใจของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวคิดปรากฏการณ์วิทยา ผู้ให้ข้อมูลคือ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 8 ราย เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ประสบการณ์ทางจิตใจของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1) ความพร้อมในการช่วยเหลือ เป็นการเกิดขึ้นของเหตุปัจจัยที่เหมาะสมที่ทำให้สามารถเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ ซึ่งมาจากแรงจูงใจภายในของผู้ให้ข้อมูลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และการที่ผู้ให้ข้อมูลมีโอกาสในการเข้ามาเป็นอาสาสมัคร 2) ปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาขณะเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบด้วย ปัญหาที่อาสาสมัครรับรู้ ผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ปัญหา 3) สิ่งที่ได้รับจากการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกทางบวก ก่อเกิดมิตรภาพที่ดีงาม นำมาสู่การเห็นคุณค่าในตนเองที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม และได้ข้อคิดที่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตใจของอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และสามารถนำผลการวิจัยมาใช้ในการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ในแง่ที่ให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งเป็นการกระทำที่มีคุณค่าและมีความหมาย เอื้อให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเอง และเกิดความงอกงามในตน รวมทั้งใช้เป็นแนวทางในการเชิญชวนให้บุคคลในสังคมเกิดการตระหนักถึงความสำคัญของงานอาสาสมัคร