Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์อยู่ 3 ด้านคือ ด้านนโยบาย ด้านกระบวนการคุ้มครองและปัญหา อุปสรรค สำหรับในแง่ระเบียบวิธีวิจัยได้เก็บข้อมูลโดยศึกษาจากเอกสารด้านกฎหมาย ระเบียบราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญทั้งหมด 4 คน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ระดับสูง สังกัดสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติแรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ผู้อำนวยการมูลนิธิสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนา และสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อีก 11 ราย โดยจากผลการศึกษามีดังนี้ ด้านนโยบายการจัดการด้านสิทธิเงินทดแทนกรณีบาดเจ็บจากการทำงาน ผลการศึกษาพบว่าเป็นปัญหาด้านกระบวนนโยบาย ที่ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างการกำหนดนโยบายระดับชาติ กับการกำหนดนโยบายระดับหน่วยงาน จึงส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านการจัดการสิทธิฯ ต่อแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ ได้แก่ พม่า กัมพูชาและลาว ด้านกระบวนการคุ้มครองสิทธิเงินทดแทนของแรงงานฯ ที่เน้นกรณีการจ่ายค่าทดแทนเมื่อแรงงานฯ ได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน พบว่า กลไกหลักที่ใช้คุ้มครองสิทธิดังกล่าวที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ยึดถือคือ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พ.ร.บ. ดังกล่าวเน้นความเสมอภาคเท่าเทียมไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามหลักการแต่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง เพราะจากผลการศึกษาพบว่ามีแรงงานฯ บางส่วนไม่ได้รับเงินทดแทนที่เที่ยงธรรมตามที่กฎหมายเงินทดแทนกำหนด สุดท้าย ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดการเชิงนโยบาย (รส 0711/ว751) ในการจ่ายเงินทดแทนที่พบว่า ปัญหาหลักคือ เอกสารประจำตัวของแรงงานฯ 3 สัญชาติ อันเป็นผลมาจากการตีความของทาง สปส. ซึ่งไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ทางกฎหมายที่บัญญัติคุ้มครองแรงงานทั้งหมด โดยไม่ได้บัญญัติถึงเงื่อนไขด้านเอกสารของผู้มีสิทธิในเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน สิ่งนี้นำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนของแรงงานฯ อันกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน