Abstract:
ได้ทำการทดสอบหาความเข้มข้นที่น้อยที่สุดในการยับยั้งการเจริญ(MIC) ของเชื้อ H. pylori กับสมุนไพรไทยที่ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร 9 ชนิด คือ กระชายดำ, กระเทียม, กล้วย, ขมิ้นชัน, ตระไคร้, ใบบัวบก, ฟ้าทะลายโจร, ว่านหางจระเข้ และ ลำต้นโหระพา พบว่า ขมิ้นชัน และกระชายดำ มีค่า MIC เท่ากับ 32 และ 64 µg/ml ตามลำดับ ส่วนสมุนไพรชนิดอื่นๆมีค่า MIC > 512 µg/ml จากนั้นทำการสกัดสมุนไพรกระชายดำออกเป็น 4 ชนิด คือ น้ำมันหอมระเหยจากกระชายดำ, สารสกัดเฮกเซนจากกระชายดำ, สารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำ และสารสกัดเมทานอลจากกระชายดำ ได้ปริมาณ(%yield)เท่ากับ 0.129%, 0.046, 0.721% และ 1.277% ตามลำดับ นำไปทดสอบหาค่า MIC พบว่า สารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำ มีค่า MIC เท่ากับ 32 µg/ml,สารสกัดเฮกเซนจากกระชายดำ และสารสกัดเมทานอลจากกระชายดำ มีค่า MIC เท่ากับ 64 µg/ml และน้ำมันหอมระเหยจากกระชายดำ มีค่า MIC > 512 µg/ml นำสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำมาทำการทดสอบฤทธิ์ในการยับยั้งการเกาะติด และบุกรุกเซลล์เยื่อบุ HEp-2 ของเชื้อ H. pylori ด้วยวิธี Gentamicin internalization assay พบว่าความสามารถในการลดการบุกรุกเซลล์เยื่อบุ HEp-2 ของเชื้อ H. pylori ขึ้นกับเวลา, ความเข้มข้นของสารสกัด และสายพันธุ์ของเชื้อ H. pylori พบว่าที่เวลามาก และที่ความเข้มข้นของสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำที่มากขึ้น สารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำสามารถลดการบุกรุกเซลล์ได้มากขึ้น และสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำมีผลในการลดการบุกรุกเซลล์HEp-2 ของเชื้อ H. pylori สายพันธุ์ที่มียีน cagA ได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่ไม่มียีน cagA ในการศึกษาผลต่อการแสดงออกของยีน alpA และ babA ซึ่งเป็นยีนที่มีความสำคัญในการเกาะติด และบุกรุกเซลล์ ด้วยวิธี RT-PCR พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตดจากกระชายดำไม่มีผลต่อการแสดงออกของยีน alpA และ babA ดังนั้น กระชายดำจึงเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถใช้ในการรักษา และป้องกันการติดเชื้อ H. pylori