Abstract:
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพและอัตราการกัดกร่อนของรอยเชื่อมของโลหะผสมโคบอลต์-โครเมียมที่ปราศจากนิกเกิลระหว่างวิธีบัดกรีด้วยไฟและการเชื่อมด้วยเลเซอร์ที่ใช้โลหะเติม โดยเตรียมชิ้นงานทั้งหมด 45 ชิ้น ตามมาตรฐาน ISO 9333 แบ่งเป็น 3 กลุ่มกลุ่มละ 15 ชิ้น กลุ่มควบคุมเป็นชิ้นงานที่ไม่มีการเชื่อมโลหะ ชิ้นงานของกลุ่มบัดกรีด้วยไฟและกลุ่มเชื่อมด้วยเลเซอร์จะถูกนำมาตัดตรงกลาง และใช้อุปกรณ์ยึดชิ้นงานเพื่อควบคุมให้มีขนาดช่องว่างที่เท่ากันทุกชิ้นงานคือ 0.2±0.1 มิลลิเมตร และทำการเชื่อมด้วยวิธีบัดกรีด้วยไฟโดยใช้โลหะบัดกรี และเชื่อมด้วยเลเซอร์โดยใช้โลหะเติมตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต การประเมินคุณภาพของรอยเชื่อมทำโดยใช้วิธีทดสอบแบบไม่ทำลายชิ้นงานด้วยเครื่องไมโครโฟกัสเอกซเรย์ ซึ่งได้ข้อมูลเป็นภาพดิจิตอล และใช้โปรแกรมอิมเมจ เจ ในการคำนวณเปอร์เซ็นต์รูพรุนในภาพรอยเชื่อมการทดสอบความต้านทานการกัดกร่อนใช้วิธีทางไฟฟ้าเคมีด้วยเทคนิคโพเทนชิออไดนามิกโพลาไรเซชัน ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ความเข้มข้น 0.9% โดยน้ำหนัก ที่ปรับค่า pH เท่ากับ 2.3 ด้วยกรดแลกติก และควบคุมอุณหภูมิที่ 37ºC วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรม one-way analysis of variance (ANOVA) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเชื่อมด้วยเลเซอร์มีเปอร์เซ็นต์รูพรุนเฉลี่ยสูงสุด(3.58%) รองลงมาคือกลุ่มบัดกรีด้วยไฟ (0.52%) และกลุ่มควบคุม (0.06%) ตามลำดับ จากผลการทดสอบความต้านทานการกัดกร่อนพบว่า กลุ่มเชื่อมด้วยเลเซอร์มีอัตราการกัดกร่อนเฉลี่ยสูงสุด(0.19 มิลลิเมตรต่อปี) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P< .05) ในขณะที่อัตราการกัดกร่อนเฉลี่ยของกลุ่มบัดกรีด้วยไฟ (0.14 มิลลิเมตรต่อปี) และกลุ่มควบคุม (0.14 มิลลิเมตรต่อปี) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P> .05) สรุปว่า การเชื่อมโลหะผสมโคบอลต์-โครเมียมที่ปราศจากนิกเกิลด้วยวิธีการเชื่อมด้วยเลเซอร์มีโอกาสเกิดรูพรุนและรอยแตกได้มากกว่าซึ่งนำไปสู่การมีอัตราการ กัดกร่อนที่สูงกว่า และถึงแม้ว่ากลุ่มบัดกรีด้วยไฟจะมีเปอร์เซ็นต์รูพรุนที่มากกว่ากลุ่มควบคุมแต่อัตราการกัดกร่อนของทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ