Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจประสบการณ์ทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาในการทำงานร่วมกับผู้รับบริการที่มี่ความคิดฆ่าตัวตาย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงตีความในการวิเคราะห์ข้อมูล มีผู้ให้ข้อมูลเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาจำนวน 8 ราย เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าประสบการณ์ทางจิตใจของนักจิตวิทยาการปรึกษาในการทำงานร่วมกับผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตาย ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่ง ความเข้าใจพื้นฐานด้านการบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาต่อผู้รับบริการที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งประกอบด้วยประเด็นย่อยการประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของผู้รับบริการ และการทำความเข้าใจสาเหตุแห่งความคิดฆ่าตัวตาย ประเด็นหลักที่สอง ปรัชญาความเชื่อพื้นฐานของนักจิตวิทยา ซึ่งประกอบด้วยประเด็นย่อยความเชื่อเกี่ยวกับโลกและชีวิต และความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทในฐานะผู้ช่วยเหลือ ประเด็นหลักที่สาม การปฏิบัติงานของนักจิตวิทยากับผู้รับบริการที่มีความคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งประกอบด้วยประเด็นย่อยกระบวนการและเป้าหมายในการทำงานร่วมกับผู้รับบริการ การประเมินความเปลี่ยนแปลงของผู้รับบริการ ปัจจัยที่สนับสนุนการทำงานของผู้ให้บริการ และความรู้สึกภายในจิตใจที่ปรากฎขึ้นจากการทำงาน และประเด็นหลักสุดท้าย การเรียนรู้ที่ตกผลึกผ่านประสบการณ์ ประกอบด้วยประเด็นย่อย ปัจจัยที่เอื้อในการทำงานร่วมกับผู้รับบริการ การดูแลจิตใจของนักจิตวิทยา และความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อภาวะจิตใจของผู้ที่ปรารถนาจะจบชีวิต ผลจากงานวิจัยนี้สามารถใช้ทำความเข้าใจประสบการณ์ของนักจิตวิทยาการปรึกษาทั้งในมุมมองเชิงวิชาชีพและมุมมองเชิงบุคคล เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้รับบริการที่มีแสดงออกทางความคิดหรือพฤติกรรมถึงความต้องการฆ่าตัวตาย รวมถึงอภิปรายผลการวิจัยภายใต้ประเด็นเรื่องกระบวนการและประสบการณ์ในการทำงาน ตลอดจนประเด็นในการดูแลจิตใจตนเองของนักจิตวิทยา