Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีรูปแบบความผูกพันเป็นตัวแปรส่งผ่าน 2) เพื่อตรวจสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีรูปแบบความผูกพันเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างกลุ่มเพศชายและเพศหญิง ตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยคือ นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 380 คน ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย ตัวแปรภายนอกที่ทำหน้าที่เป็นตัวแปรอิสระ จำนวน 2 ตัวแปร ได้แก่ บุคลิกภาพแบบเปิดตัวและบุคลิกภาพแบบเป็นมิตร ตัวแปรภายในที่ทำหน้าที่เป็นตัวแปรส่งผ่าน จำนวน 3 ตัวแปร ได้แก่ รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง รูปแบบความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง และรูปแบบความผูกพันแบบหลบหลีก ตัวแปรภายในที่ทำหน้าที่เป็นตัวแปรตาม จำนวน 1 ตัวแปร ได้แก่ ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์โมเดลลิสเรล ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ดังนี้
1) ผลการตรวจสอบความตรงของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีรูปแบบความผูกพันเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (Chi-square = 0.87, degree of freedom = 1, p-value = 0.350, RMR = 0.951, RMSEA = 0.00 , AGFI = 0.984 และ GFI= 0.999) ตัวแปรบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและตัวแปรบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรมีอิทธิพลทางตรงต่อตัวแปรรูปแบบความผูกพันทั้ง 3 รูปแบบ และตัวแปรความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) ตัวแปรบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและตัวแปรบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรมีอิทธิพลทางอ้อมต่อตัวแปรความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) และตัวแปรรูปแบบความผูกพันทั้ง 3 รูปแบบ มิอิทธิพลทางตรงต่อตัวแปรความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รักอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)
2) ผลการตรวจสอบความไม่แปรเปลี่ยนของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบุคลิกภาพแบบเปิดตัวและบุคลิกภาพแบบเป็นมิตรต่อความพึงพอใจในความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีรูปแบบความผูกพันเป็นตัวแปรส่งผ่านระหว่างกลุ่มเพศชายและเพศหญิง พบความไม่แปรเปลี่ยนของรูปแบบโมเดลและค่าพารามิเตอร์ในโมเดล ซึ่งได้แก่ เมทริกซ์ค่าอิทธิพลของตัวแปรภายนอกที่มีต่อตัวแปรภายใน เมทริกซ์ค่าอิทธิพลของตัวแปรภายในที่มีต่อตัวแปรภายใน เมทริกซ์ความแปรปรวน-ความแปรปรวนร่วมระหว่างความคลาดเคลื่อนของตัวแปรภายใน และเมทริกซ์ความแปรปรวน - ความแปรปรวนร่วมระหว่างตัวแปรภายนอก