Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาขบวนการแพทย์ชนบทในกระบวนการนโยบายระบบสุขภาพ : ขบวนการประชาสังคมส่งผลต่อประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาว่าขบวนการแพทย์ชนบทที่อาจยังคงมีลักษณะของความไม่เป็นประชาธิปไตยดำรงอยู่ แต่บทบาทการมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวในกระบวนการนโยบายระบบสุขภาพระดับประเทศ ส่งผลต่อการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในประเทศไทย โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ ผลการวิเคราะห์พบว่าขบวนการแพทย์ชนบทได้สร้างนวัตกรรมในการเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แก่ ความเป็น “ทวิลักษณ์” ของการเป็น “NGOs ใน GO” และการเป็น “GO ใน NGOs” ในขณะเดียวกัน ทำให้การขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายปฏิรูประบบสุขภาพระดับชาติตั้งอยู่บนสถานภาพสองสถานะ ในด้านหนึ่งมีลักษณะเป็น “GO ใน NGOs” เนื่องจากสถานภาพของแพทย์เหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข แต่ได้รวมตัวจัดตั้งองค์กรประชาสังคมที่อยู่ภายนอกโครงสร้างอำนาจรัฐ ในอีกด้านหนึ่งก็เป็น “NGOs ใน GO” เพราะใช้องค์กรประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นเคลื่อนไหวแบบ NGOs ในการผลักดันนโยบายระดับชาติ โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในหน่วยงานราชการในฐานะที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ (GO) มาปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติจนสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีมิติการเป็นทวิลักษณ์ของความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายระดับชาติ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของขบวนการแพทย์ชนบทมีผลส่งเสริมต่อความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายระดับประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ภายในขบวนการก็ยังมีมิติความไม่เป็นประชาธิปไตยดำรงอยู่ แต่ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวของขบวนการส่งผลในทางบวกต่อความเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในประเทศไทย