Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการแสวงหาคำอธิบายเกี่ยวกับดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร ภายใต้บริบททางการเมืองของไทยที่ไม่อาจนำทหารออกจากการเมืองได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการและลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหารในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย เพื่อประเมินบทบาทและนโยบายของรัฐบาลพลเรือนในการสร้างดุลยภาพความ สัมพันธ์กับทหารภายใต้บริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน และเพื่อวิเคราะห์เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหารในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย การศึกษานี้อาศัยการผสมผสานแนวคิดเรื่องลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร และแนวคิดเรื่องการกำกับกองทัพภายใต้กรอบประชาธิปไตย โดยมีตัวแปรสำคัญที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ บริบทด้านกฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงที่แวดล้อมความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร การบริหารจัดการงบประมาณ การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การปฏิรูปกองทัพ และการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร การไม่นำทหารเข้ามาในพื้นที่การเมือง และการควบคุมทหารโดยรัฐสภาและภาคประชาชน การศึกษานี้ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 – 2554 โดยเน้นหนัก 3 รัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลชวน หลีกภัย2 รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
การศึกษาพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหารในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่มีทิศทางที่แน่นอน มีความสัมพันธ์หลายลักษณะปะปนกันอยู่ในแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ความสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยการแบ่งแยกบทบาท มาสู่การแข่งขันทางอำนาจแบบชนะกินรวบ และการมีรัฐบาลพลเรือนในการอุปถัมภ์ของกองทัพ เมื่อวิเคราะห์ลงไปถึงประเด็นสำคัญเชิงนโยบายพอสรุปได้ว่า รัฐบาลพลเรือนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการเมืองของกองทัพ การแต่งตั้งฝ่ายพลเรือนดำรงตำแหน่งสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายความมั่นคง แต่ยังคงมีบางประเด็นที่รัฐบาลกับกองทัพต้องเจรจาต่อรองและทำความตกลงร่วมกัน เช่น การอนุมัติและจัดสรรงบประมาณรวมถึงงบราชการลับระหว่างปีงบประมาณ การปรับโครงสร้างกระทรวงกลาโหม การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร การจัดการปัญหาความมั่นคงภายใน และการทำให้กองทัพถูกตรวจสอบจากสังคมได้ เป็นต้น ที่สำคัญไปกว่านั้น กองทัพยังคงรักษาอำนาจในการกำหนดการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายพลเรือนได้อยู่อย่างมั่นคงในสถานการณ์ที่มีวิกฤตการเมือง เงื่อนไขที่มีส่วนสร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน-ทหาร อันจะนำไปสู่ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยได้นั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของรัฐบาลพลเรือนไม่น้อย เงื่อนไขทั่วไปที่สำคัญ ได้แก่ การที่รัฐบาลสามารถกำกับกองทัพภายใต้กรอบประชาธิปไตย มีความชอบธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ไม่มีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นรวมถึงการกระทำผิดอย่างรุนแรง สามารถรักษาไว้ซึ่งความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนเงื่อนไขที่มีลักษณะ เฉพาะของสังคมไทยคือการที่รัฐบาลต้องส่งเสริมเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ประกอบด้วย