Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาการจัดกรอบการอภิบาลระหว่างประเทศในกรณีความตกลงแม่น้ำโขง ค.ศ.1995 โดยอธิบายว่า เพราะเหตุใด รัฐในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างจึงบรรลุข้อตกลงได้ แม้ว่ารัฐเหนือน้ำอย่างประเทศไทยจะมีผลประโยชน์และความต้องการแตกต่างจากรัฐปลายน้ำในแง่ที่ว่า ฝ่ายแรกต้องการกฎกติกาการจัดสรรน้ำที่เปิดทางให้ตนใช้ประโยชน์ลำน้ำสาขาภายในเขตแดนของประเทศได้โดยอิสระ และใช้น้ำจากแม่น้ำสายประธานโดยมีข้อจำกัดน้อยที่สุด ขณะที่ฝ่ายหลังต้องการกฎกติกาที่เปิดทางแก่การควบคุมการใช้น้ำของรัฐเหนือน้ำเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนจากผลกระทบจากการใช้น้ำที่จะเกิดแก่รัฐปลายน้ำ แต่กรอบอภิบาลที่เข้มแข็งต้องแลกกับการยอมลดอำนาจอธิปไตยและอัตตาณัติในการกำหนดนโยบายของแต่ละฝ่ายลง และมอบอำนาจการจัดการดูแลลุ่มน้ำให้แก่กลไกระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
งานวิจัยนี้พบว่า รัฐเหนือน้ำกับรัฐปลายน้ำ คือ กัมพูชากับเวียดนาม โดยมีลาวเป็นพันธมิตรในการเจรจาจัดทำความตกลง ต่างเลือกให้ความสำคัญแก่ต้นทุนด้านอำนาจอธิปไตยที่จะเสียไปเหนือกว่าผลได้ที่จะได้รับจากการมีกลไกรับมือกับความไม่แน่นอนจากการใช้น้ำ ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะจัดกรอบการอภิบาลในรูป soft law กล่าวคือ ออกแบบความตกลงแม่น้ำโขงให้เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ทว่ามีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและพันธะของรัฐภาคีที่ไม่ชัดเจน ขาดกลไกบังคับรัฐภาคีให้ปฏิบัติตามกฎ และไม่มีการมอบอำนาจแก่องค์การระหว่างประเทศในการจัดการลุ่มน้ำ เพื่อรักษาอธิปไตยและอัตตาณัติในการดำเนินนโยบายของตนไว้ในระดับที่เห็นพ้องต้องกัน
ผลที่ตามมาก็คือ แม้การจัดกรอบการอภิบาลในรูป soft law จะช่วยให้รัฐริมฝั่งบรรลุผลของการเจรจา แต่กรอบการอภิบาลในลักษณะดังกล่าวก็ด้อยประสิทธิผลในการกำกับพฤติกรรมการใช้น้ำในหมู่ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังปรากฏในกรณีโครงการไซยะบุรี ที่วิทยานิพนธ์ยกเป็นกรณีศึกษา.