Abstract:
งานวิจัยชิ้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อ สร้างคำอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง ในปัจจุบันของไทย อันเกิดขึ้นจากวิกฤติความขัดแย้ง ระหว่างขบวนการมวลชนเสื้อแดง รัฐ และขบวนการโต้กลับต่างๆ รวมถึงการสร้างตัวแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สำหรับอธิบายปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงต่างๆดังกล่าว เพื่อค้นหากลไกและกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ขอบเขตการศึกษาของงานวิจัยชิ้นนี้ อยู่ระหว่างปี 2549-2553 ใช้ระเบียบวิธีวิจัยทั้งระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และ ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ กล่าวคือ ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การศึกษาตีความ โทรเลขทางการทูตของสถานทูตอเมริกัน ประจำกรุงเทพฯ และสถานกงสุลอเมริกัน ประจำเชียงใหม่เป็นหลัก และระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ใช้การเก็บข้อมูลสำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนเสื้อแดง และใช้เทคนิคการวิเคราะห์ทางสถิติรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นแบบพหุ และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบพหุ โดยใช้การทดสอบนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยด้านภูมิหลังประชากร สามารถใช้อธิบาย การเข้าร่วมการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ได้เพียงแค่ ร้อยละ 12 เท่านั้น โดยอิทธิพลส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่ อายุ ภูมิลำเนา และเพศ แต่อายุของคนเสื้อแดง ถือเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุด ต่อการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อพิจารณากรอบการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์เชิงพลวัตในการระดม พบว่า การมองว่าตนเองไม่มีพวก/ไม่มีเส้นสาย และการเรียกร้องประชาธิปไตย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสให้คนเสื้อแดง เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น เมื่อพิจารณากรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ พบว่า ประเด็น “การกำจัดสองมาตรฐาน/อำมาตย์” และ “การเรียกร้องประชาธิปไตย” มีส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มคนเสื้อแดง และเมื่อพิจารณากรอบการวิเคราะห์วิถีโคจรของการปฏิวัติ พบว่า คนเสื้อแดงโดยทั่วไป มีความยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก และมองว่า ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยจะมีปัญหามาก แต่ก็เป็นรูปแบบการปกครอง ที่ดีกว่ารูปแบบการปกครองอื่นๆ นอกจากนี้ โครงสร้างทางสังคมแบบดั้งเดิมและความไว้วางใจในหมู่ประชาชน ก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่สูง ดังนั้น ความไม่พอใจของคนเสื้อแดงเหล่านี้ จึงยังไม่ถึงขั้นที่จะทำให้ พวกเขาตัดสินใจทิ้งระบอบเดิม และเข้าสู่สถานการณ์การปฏิวัติจริงๆ