Abstract:
วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษารวบรวมคาถาและพิธีกรรมรักษาโรคของหมอพื้นบ้านที่บ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อวิเคราะห์บทบาทและการสืบทอดคาถาและพิธีกรรมรักษาโรคของหมอพื้นบ้านโดยใช้แนวทางการศึกษาด้านคติชนวิทยา ได้แก่ การศึกษาคติชนด้านการสื่อสารการแสดง การศึกษาคติชนด้านบทบาทหน้าที่ และการศึกษาพฤติกรรมสัญลักษณ์และวัตถุสัญลักษณ์เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ จากข้อมูลที่รวบรวมได้ พบว่าปัจจุบันหมู่บ้านนี้มีหมอพื้นบ้านทั้งหมด 22 คน แบ่งประเภทตามความรับรู้ของชาวบ้านได้ 12 ประเภท คือ หมอสมุนไพร หมอเหยียบหมา หมอกวาดยา หมอเริม-งูสวัด หมอดับพิษไฟ หมอสูญฝี หมอพ่นซาง หมอกระดูก หมองู หมอบ่งหนามและก้างปลา หมอตำแย และหมอนวดจับเส้น
ผลการศึกษาพบว่า พิธีกรรมรักษาโรคของหมอพื้นบ้านที่บ้านหนองขาวเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู แล้วจึงรักษาโดยใช้สมุนไพรหรือการเป่าพ่น จากนั้นเป็นการบอกข้อควรระวังและการให้สินน้ำใจ พิธีกรรมมุ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ป่วยผ่านองค์ประกอบและสัญลักษณ์ที่สะท้อนความศรัทธาในอำนาจพระพุทธคุณ อำนาจของครู และอำนาจของคาถาอาคม คาถาที่ใช้ในการรักษาโรคพบ 20 คาถา ที่มามีทั้งที่แต่งขึ้นเอง นำมาจากคาถาอาคมประเภทอื่น และที่ตัดมาจากบทสวดที่ใช้ในพิธีสงฆ์ จำแนกตามเนื้อหาของคาถาเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ คาถาที่มีเนื้อหาเน้นเรื่องการรักษาโรค และคาถาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ลักษณะและประเภทคาถาสะท้อนให้เห็นอิทธิพลพระพุทธศาสนาทั้งในแง่เนื้อหา ภาษา และวิธีการถ่ายทอด
ผลการวิเคราะห์ในด้านบทบาทและการสืบทอดพบว่า คาถาและพิธีกรรมรักษาโรคของหมอพื้นบ้านยังคงสืบทอดกันอยู่ในหมู่เครือญาติและครู-ศิษย์ ทั้งยังมีบทบาทต่อชุมชนในการสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจ การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชน และการสืบทอดความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาโรค ปัจจัยที่มีผลต่อการสืบทอดคาถาและพิธีกรรมรักษาโรคจึงประกอบด้วยระบบเครือญาติ วิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมที่พึ่งพาตนเอง ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและความเชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งค่านิยมนับถือในการผู้มีวิชาความรู้
งานวิจัยนี้จึงเป็นการศึกษาในเชิงคติชนวิทยาที่ช่วยบันทึกรวบรวมคาถาและพิธีรักษาโรคอันเป็นองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้านประเภทต่างๆ ในชุมชนแห่งนี้ และเป็นแนวทางในการศึกษาการแพทย์พื้นบ้านในเชิงคติชนวิทยาต่อไป