Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือช่วยการเรียนรู้การบัญชีภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ให้อยู่ในรูปแบบระบบคอมพิวเตอร์ช่วยเรียนที่เป็นมิตรกับผู้ใช้ และ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของความพอดีระหว่างเทคโนโลยีส่วนประสานและรูปแบบของคำถามที่ใช้ในการออกแบบระบบคอมพิวเตอร์ช่วยเรียนที่ส่งผลต่อคะแนนการเรียนรู้และประสบการณ์การเรียนรู้การบัญชีภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เครื่องมือช่วยการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น แบ่งโจทย์การเรียนรู้เป็น 2 แบบ คือ โจทย์ภาพกับโจทย์ข้อความและใช้เทคโนโลยีส่วนประสาน 2 ชนิด คือ การใช้หน้าจอสัมผัสกับการใช้เมาส์คลิก
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Semi-experimental research) เก็บข้อมูลความคิดเห็นจากนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาการบัญชี ชั้นปีที่ 2 และ ชั้นปีที่ 3 จำนวน 120 คน ซึ่งมีความรู้พื้นฐานด้านการบัญชีและการภาษีอากร แต่ยังไม่ได้เรียนเรื่องการบัญชีภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การวิจัยได้ออกแบบการแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 X 2 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มใช้โจทย์ภาพ (Picture Question) ด้วยคอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัส (Tablet) 2) กลุ่มใช้โจทย์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์ชนิดเมาส์คลิก (Notebook, PC) 3) กลุ่มใช้โจทย์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัส และ 4) กลุ่มใช้โจทย์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ชนิดเมาส์คลิก
ผลจากการวิเคราะห์คะแนนการเรียนรู้ (Learning Score) พบว่า คะแนนหลังการทดลอง (Post-test) สูงกว่าคะแนนก่อนการทดลอง (Pre-test) ในทั้ง 4 กลุ่ม ในขณะที่มีเพียง 3 จาก 4 กลุ่ม ที่คะแนนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ คือ กลุ่มที่ 1) โจทย์ภาพกับคอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัส กลุ่มที่ 2) โจทย์ภาพกับคอมพิวเตอร์ชนิดเมาส์คลิก และกลุ่มที่ 4) โจทย์ข้อความกับคอมพิวเตอร์ชนิดเมาส์คลิก ส่วนกลุ่มที่คะแนนก่อนและหลังไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ คือ กลุ่มที่ 3) โจทย์ข้อความกับคอมพิวเตอร์หน้าจอสัมผัส
ผลของการศึกษาเกี่ยวกับความพอดีกันระหว่างรูปแบบของโจทย์คำถามและประเภทเทคโนโลยีส่วนประสานในแต่ละกลุ่ม พบว่าไม่สนับสนุนสมมติฐานที่ 1 นั่นคือ ความพอดีกันระหว่างโจทย์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์จอสัมผัส ไม่มากกว่า ความพอดีกันระหว่างโจทย์ภาพด้วยคอมพิวเตอร์ชนิดใช้เมาส์คลิก และ ความพอดีกันระหว่างโจทย์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์ชนิดใช้เมาส์คลิก ไม่มากกว่า ความพอดีกันระหว่างการใช้โจทย์ข้อความด้วยคอมพิวเตอร์จอสัมผัส สำหรับสมมติฐานที่ 2 พบความสัมพันธ์บางส่วนระหว่างความพอดีกันระหว่างโจทย์และเทคโนโลยีส่วนประสาน คือ ความพอดีกันมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์การเรียนรู้ แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับคะแนนการเรียนรู้