Abstract:
การอธิบายปรากฏการณ์ยุติสงครามบ้านร่มเกล้า ด้วยการเจรจาหยุดยิง โดยมี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นตัวแทนที่เหมาะสมในการปิดการเจรจา วิทยานิพนธ์ฉบับนี้อาศัยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ตลอดจนศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงเวลา 31 พฤษภาคม ค.ศ.1987 -19 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1988
ภาพเสมือนของภูเขาน้ำแข็งด้านล่าง แสดงภาพปรากฏการณ์ผ่านสงครามบ้านร่มเกล้า-บ่อแตน เป็นผลสืบเนื่องจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ช่วงสงครามเย็นทั้งยังมีปัจจัยความร้าวฉานเก่าในคราวสงครามสามหมู่บ้าน นำไปสู่สงครามบ้านร่มเกล้า-บ่อแตน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยร่วมอีกเจ็ดประการ ปัจจัยลึกซึ้งเหล่านี้นำไปสู่ภาพด้านบนของยอดภูเขาน้ำแข็ง เสมือนมีจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างประเทศจากการทำไม้ในพื้นที่สัมปทานเอกชนไทยโดยบริษัทอุตรดิตถ์มอเตอร์เวิร์คและบริษัทรุ่งตระการทำไม้ซึ่งปรากฏเป็นข่าวในช่วงเวลานั้น
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เน้นอธิบายภาวะผู้นำนายทหารซึ่งมีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเลือกเป็นผู้ปิดการเจรจาด้วยการหยุดยิง โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ประการแรก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีประสบการณ์ทำงานใกล้ชิดในฐานะนายทหารคนสนิท (ทส.) ของนายกรัฐมนตรีไทยสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบที่มีการแย่งชิงอำนาจของนายทหาร จปร. รุ่นต่างๆ เพื่อเป็นทายาททางการเมืองสืบต่อจาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลในช่วงเกิดสงครามบ้านร่มเกล้า-บ่อแตน ในช่วงเวลานี้รัฐบาลเผชิญกับทั้งปัญหาภายนอกประเทศและปัญหาภายในประเทศ, ประการที่สอง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีประสบการณ์ทำงานด้านการทูตและการเจรจามาก่อนจากเหตุการณ์เดินทางไปพบผู้นำจีน ตลอดจนมีประสบการณ์ มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพทหาร, ประการสาม ลักษณะบุคลิกภาพและประวัติความเป็นมาของตระกูล ยงใจยุทธ ที่ใกล้ชิดกับเชื่อพระวงศ์ไทย และ สายราชวงศ์ลาว, เจ้าสุภานุวงศ์, เจ้าเพชราชซึ่งมีชายาชื่อ หม่อม อภิณพร รัตนวงศา-ยงใจยุทธ มีศักดิ์เป็นคุณอาของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ ปัจจัยสุดท้าย เนื่องจากการเจรจาเป็นหนทางยุติการสู้รบที่สอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติของคู่ขัดแย้ง อีกทั้งฝ่ายลาวเสนอโอกาสในการเจรจาหยุดยิงคลายครั้งแต่เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและผู้นำระดับต่างๆ ของฝ่ายลาว ทำให้ฝ่ายลาวแสดงท่าทีต้องการให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาฝ่ายไทยเพื่อมาเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายลาว จากปัจจัยสี่ประการข้างต้นส่งผลให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจมอบหมายให้ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้แทนฝ่ายไทยดำเนินการสานต่อกระบวนการเจราจาหยุดยิง กระทั่งสัมฤทธิ์ผลในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531