Abstract:
โรคร้ายแรง อันได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและโรคเอดส์จัดเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิต ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าตนป่วยเป็นโรคร้ายแรงจึงต้องเผชิญกับภาวการณ์เจ็บป่วย ภาวะใกล้ตายและความตาย แต่การวิจัยในประเด็นนี้มีอยู่จำกัดเมื่อเทียบกับปริมาณแนวโน้มของผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1.) เพื่อศึกษามุมมองเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตายของผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่อยู่ภายใต้การดูแลรักษาแบบประคับประคองและ 2.) เพื่อศึกษาอิทธิพลของมุมมองดังกล่าวต่อการใช้ชีวิตและการปรับตัวของผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่อยู่ภายใต้การดูแลรักษาแบบประคับประคอง เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนลมหายใจสุดท้ายและจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาและดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ทำหน้าที่คอยให้การดูแลแก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอดกระบวนการของการเจ็บป่วยจนกระทั่งผู้ป่วยถึงช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตและได้จากไปอย่างสงบเป็นจำนวนทั้งหมด 10 ราย โดยใช้เทคนิคการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การฟังอย่างคิดพิจารณาและบันทึกข้อมูล แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยการตีความเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากภาคสนาม
ผลการวิจัยพบว่าการใช้ชีวิตและการปรับตัวของผู้ป่วยโรคร้ายแรงตั้งแต่ช่วงขณะเจ็บป่วยจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิตได้รับอิทธิพลมาจากมุมมองทางความคิดที่เกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตาย ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผู้ป่วยเป็นผลมาจากปัจจัยที่หลากหลาย ได้แก่ ปัจจัยทางสังคม, การกำหนดความหมายของความตายตามระบบวัฒนธรรม, รูปแบบการดูแลรักษา, ความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่และอื่นๆที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยพบว่าปัจจัยที่สำคัญต่อมุมมองความคิด การใช้ชีวิตและการปรับตัวของผู้ป่วยมากที่สุดก็คือปัจจัยด้านรูปแบบการดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคองจากทีมสุขภาพและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอจะสามารถใช้ช่วงระยะเวลาสุดท้ายของชีวิตไปกับการเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่ความตายได้อย่างมีคุณค่าทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ เมื่อเตรียมพร้อมแล้วทุกด้านจะทำให้ผู้ป่วยหมดห่วง ปล่อยวาง เกิดความสงบทางจิตใจและจากโลกนี้ไปได้อย่างสุขสงบ
จากผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจในมิติของมุมมองเกี่ยวกับภาวะใกล้ตายและความตาย ตลอดจนการใช้ชีวิตและการปรับตัวของผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่กำลังจะเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้ไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยโรคร้ายแรงตั้งแต่ขณะเริ่มเจ็บป่วยจนกระทั่งเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดกระบวนการรักษาและจากโลกนี้ไปได้อย่างสุขสงบตรงตามความต้องการของผู้ป่วย