Abstract:
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและตำรวจ ปัจจัยที่เกื้อหนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ปัญหาและอุปสรรค ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม โดยใช้การศึกษาค้นคว้า ข้อมูลจากเอกสารและการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการณ์ แบบมีส่วนร่วม
ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและตำรวจ ประกอบด้วย ขั้นตอนแรกก่อนการลงชุมชน คือ การจัดทำโครงการสถานีประชาอาสาพิทักษ์, การคัดเลือกผู้ปฏิบัติงานตำรวจผู้รับใช้ชุมชน, การอบรมหลักการของทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ขั้นตอนที่สองการลงชุมชน คือ การค้นหาผู้นำชุมชนและผู้นำทางศาสนา, การค้นหาแนวร่วม สายตรวจประชาชน, การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน, การค้นหาปัญหาอาชญากรรมและความไม่เป็นระเบียบของชุมชน, การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม, การประเมินผล
ปัจจัยที่เกื้อหนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน ประกอบด้วย ความสนใจและความห่วงกังวลร่วมกัน, ความต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชนไปในทิศทางที่ปรารถนา, การได้รับประโยชน์ตอบแทนด้านจิตใจ, ผลการดำเนินโครงการและความไว้วางใจตำรวจ, การได้รับการบอกกล่าวหรือชักชวน, โครงสร้างช่องทางในการมีส่วนร่วม, หลักคำสอนและผู้นำทางศาสนา, ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
ปัญหาและอุปสรรคในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม คือ การสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน, งบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ, การดำเนินนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง, การไม่ได้รับความร่วมมือจากครอบครัวผู้ติดยาเสพติด