Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองตะวันตกในประเทศไทย โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ได้เลือกศึกษาทฤษฎีการเมืองของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ซึ่งในงานวิจัยนี้จะมุ่งพิจารณาในสองด้านเป็นหลักคือ ในด้านแรกเป็นการพิจารณาในแง่ของการนำทฤษฎีการเมืองของรุสโซมาใช้ในประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2475-2555 ในอีกด้านหนึ่งผู้วิจัยจะพิจารณาในแง่ของการตีความว่าผู้ที่นำทฤษฎีการเมืองของรุสโซมาใช้นั้นมีปัญหาในการตีความหรือการทำความเข้าใจอย่างไร สำหรับวิธีการศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาแนวประวัติศาสตร์ความคิด ซึ่งเป็นการศึกษาโดยเน้นหนักทางด้านการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริบทแวดล้อมของการเมืองไทยกับการนำทฤษฎีการเมืองการเมืองของรุสโซมาใช้
ผลจากการวิจัยพบว่า ทฤษฎีการเมืองของรุสโซได้ถูกดัดแปลงและถูกนำมาใช้โดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ทฤษฎีการเมืองของรุสโซถือได้ว่าเป็นทฤษฎีการเมืองชุดแรกๆที่ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา โดยผู้ที่นำมาใช้ก็คือ เหล่าผู้ที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร อย่างไรก็ดีทฤษฎีการเมืองของ รุสโซก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไปเมื่อสิ้นสุดลงของระบอบคณะราษฎรในช่วงปี พ.ศ. 2490 แต่ทฤษฎีการเมืองของรุสโซก็ถูกนำมาเผยแพร่อย่างแพร่หลายอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ. 2516-2519 แต่เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารหลังเหตุการณ์กวาดล้างขบวนการนักศึกษา ทฤษฎีการเมืองของรุสโซก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อีกต่อไป จนกระทั่งตั้งแต่ช่วงปี 2540-2555 ทฤษฎีการเมืองของรุสโซก็ถูกกลับนำมาใช้อีกครั้งในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมฝูงชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว พวกนักเคลื่อนไหวหลายคนได้นำทฤษฎีการเมือง รุสโซมาใช้สร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตนในช่วงที่ประเทศไทยมีวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในอีกแง่หนึ่งผู้วิจัยพบว่าการนำทฤษฎีการเมืองของรุสโซมาใช้ในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นผู้ที่นำมาใช้จะเข้าใจเสมอมาว่าทฤษฎีการเมืองของรุสโซนั้นเป็นทฤษฎีการเมืองที่เหมาะสำหรับนำมาใช้ปลุกระดมผู้คน เนื่องจากความเข้าใจทฤษฎีการเมืองของรุสโซของผู้ที่นำมาใช้จะมีความเข้าใจร่วมกันว่า รุสโซได้เสนอว่า เสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์ ประชาชนจะทำอะไรก็ได้ไม่มีวันผิด ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ของผู้ที่นำทฤษฎีการเมืองของ รุสโซมาใช้ในไทยนั้นมีสาเหตุมาจากการจงใจใช้ผิดเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และการเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเจตจำนงทั่วไปของรุสโซ