Abstract:
ภาวะทุพพลภาพเป็นปัญหาเชิงสุขภาพที่สำคัญในผู้สูงอายุทั้งเพศหญิงและชาย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินและเปรียบเทียบความแตกต่าง ภาวะทุพพลภาพ ปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสังคมในผู้สูงอายุเพศหญิงและชาย 2) เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสุขภาพและสังคม กับภาวะทุพพลภาพของเพศหญิงและชาย 3) เพื่อจัดทำแนวทางเชิงนโยบายด้านสุขภาพและสังคม ในการลดภาวะทุพพลภาพในวัยสูงอายุให้เหมาะสมตามเพศ
การวิจัยครั้งนี้ ใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุปี 2550 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในกลุ่มประชากร 60 ปีขึ้นไป 30,427 คน โดยเพศหญิงมีสัดส่วนการมีปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและสังคมสูงกว่าชาย ยกเว้น การเตรียมพร้อมจิตใจ ผลการประเมินภาวะทุพพลภาพผู้สูงอายุทั้งสองเพศ ตามนิยามทุพพลภาพของ ICF องค์การอนามัยโลก พบว่า ความชุกภาวะทุพพลภาพโดยรวมเพศหญิงสูงกว่าชาย คือ ร้อยละ 30.9 และ 18.1 และมีความเสี่ยงสูงกว่า 1.8 เท่า การทุพพลภาพในวัยสูงอายุจะเริ่มจากการเดิน ลุกนั่ง อาบน้ำ แต่งตัว และกิน โดยเพศหญิงจะมีความเสี่ยงทุพพลภาพการเคลื่อนที่สูงกว่าชาย (เดิน และ ลุกนั่ง)ตลอดช่วงวัยสูงอายุ แต่เพศชายจะมีความเสี่ยงทุพพลภาพกิจกรรมพื้นฐาน (อาบน้ำ แต่งตัว และกิน)สูงกว่าเพศหญิงในช่วงสูงอายุวัยต้นจนถึงช่วงต้นของการสูงอายุวัยปลาย ผลวิเคราะห์แบบแปรผันหลายทางจากสมการถดถอยโลจิสติกแยกเพศหญิงและชาย พบว่า ปัจจัยแวดล้อมชุมชนสังคม ครอบครัว และบุตร มีผลลดโอกาสเสี่ยงการทุพพลภาพในเพศหญิงมากกว่า ส่วนปัจจัยบุคคลสถานะเศรษฐกิจ เตรียมพร้อมการเงิน การศึกษา และการสมรส มีผลในเพศชายมากกว่า ส่วนการเตรียมพร้อมทางกาย มีผลไม่ต่างกัน
แนวทางแก้ไขเชิงนโยบายให้เหมาะสมตามเพศและจัดลำดับความสำคัญตามค่า PAF แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.แนวทางที่มีผลต่อหญิงมากกว่า ได้แก่ การป้องกันรักษาโรคหัวใจและโรคฟัน รณรงค์การเข้าถึงศาสนกิจ สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายเกื้อหนุนในระดับครอบครัว รณรงค์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีตั้งแต่อายุน้อย พัฒนาสมรรถนะระบบบริการสุขภาพรัฐให้ตอบสนองต่อโรคของผู้สูงอายุ ส่งเสริมศักยภาพชุมชนต่อการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ ส่งเสริมการมีบุตรให้เหมาะสม 2.แนวทางที่มีผลต่อชายมากกว่าได้แก่ การป้องกันรักษาโรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็ง ส่งเสริมการเตรียมพร้อมการเงินและพัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ ส่งเสริมการศึกษา สร้างเสริมช่องทางรับข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริมแนวทางใช้ชีวิตสมรสอย่างมั่นคง 3.แนวทางที่มีผลทั้งหญิงและชายไม่ต่างกัน ได้แก่ ป้องกันรักษาโรคเรื้อรังที่ไม่รุนแรง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น รณรงค์พฤติกรรมสุขภาพที่ดี โดยพื้นที่เป้าหมายของปัญหานี้ทั้งเพศหญิงและชาย คือ เขตเมือง และกรุงเทพฯ สรุป ภาวะทุพพลภาพในวัยสูงอายุมีความแตกต่างกันบางประการในเพศหญิงและชาย แนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ให้เหมาะสม จึงมีความแตกต่างกันตามเพศ