Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1)ศึกษาพัฒนาการของภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก ช่วงหลักที่ 5 ถึงหลักที่ 6 จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร 2) วิเคราะห์องค์ประกอบและประเมินคุณค่าของภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก ช่วงหลักที่ 5 ถึงหลักที่ 6 จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร 3) วิเคราะห์ปัญหาและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก ช่วงหลักที่ 5 ถึงหลักที่ 6 จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร โดยมีระเบียบวิธีวิจัยหลักคือ การสำรวจภาคสนาม แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์
ผลการศึกษาพบว่าชุมชนริมคลองดำเนินสะดวกช่วงหลักที่ 5 ถึงหลักที่ 6 มีพัฒนาการภูมิทัศน์วัฒนธรรม 3 ช่วง คือ ช่วงที่ 1(พ.ศ. 2409-2449) ยุคเริ่มการขุดคลองดำเนินสะดวกและการตั้งถิ่นฐาน โดยกลุ่มคนจีนและไทยตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มแรกภายหลังจากเป็นแรงงานขุดคลองดำเนินสะดวก ต่อมากลุ่มไทยทรงดำจึงได้อพยพเข้ามา ช่วงนี้ภูมิทัศน์วัฒธรรมมีลักษณะที่สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลสูงต่อมนุษย์ รูปแบบการตั้งถิ่นฐานปรากฏเฉพาะแนวริมคลองดำเนินสะดวก โดยกลุ่มคนจีนนำภูมิปัญญาทางการเกษตร”ระบบสวนยกร่อง”มาใช้ ช่วงนี้จึงจัดเป็น “ภูมิทัศน์นำวัฒนธรรม” ในช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2450-2489) ยุคการขยายตัวของชุมชนริมคลองดำเนินสะดวก ชาวดำเนินสะดวกเดิมต้องการขยายพื้นที่ทำนา ประกอบกับการอพยพเข้ามาหาที่ดินทำกินเพิ่มขึ้นของคนจีนจากนครไชยศรีและคนไทยที่พ้นจากการเป็นทาส เริ่มมีการขุดคลองย่อยเข้าสู่พื้นที่ชั้นใน แต่ยังคงอิงกับระบบธรรมชาติและฤดูกาล ช่วงนี้จึงจัดเป็น “ภูมิทัศน์และวัฒนธรรมมีลักษณะเด่นร่วมกัน” และช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2490-ปัจจุบัน)ยุคการเปลี่ยนแปลงชุมชน การเกษตร และการคมนาคม มนุษย์เริ่มมีอิทธิพลเหนือสภาพแวดล้อม โดยมนุษย์สามารถควบคุมระบบน้ำได้จากการสร้างเขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งการพัฒนาโครงข่ายถนนซึ่งทำให้รูปแบบการตั้งถิ่นฐานและการสัญจรรูปแบบริมน้ำเริ่มเปลี่ยนมาเกาะตามเส้นถนนแทน ในอนาคตอาจสูญเสียคุณค่าและเอกลักษณ์ภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนได้ ช่วงนี้จึงจัดเป็น “วัฒนธรรมนำภูมิทัศน์” พัฒนาการภูมิทัศน์วัฒนธรรมตั้งแต่อดีตของพื้นที่ศึกษานี้ ทำให้ปรากฏองค์ประกอบภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สำคัญคือ องค์ประกอบภูมิทัศน์วัฒนธรรมทางด้านกายภาพ ด้านประวัติศาสตร์ และด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยองค์ประกอบเหล่านี้ก่อให้เกิดคุณค่าภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชน หากไม่มีการอนุรักษ์มีแนวโน้มที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ข้อเสนอแนะในการดำรงภูมิทัศน์วัฒนธรรมของชุมชนริมคลองดำเนินสะดวกช่วงหลักที่ 5 ถึงหลักที่ 6 เช่น การใช้มาตรการทางผังเมืองควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน และควบคุมรูปแบบสถาปัตยกรรมให้คงลักษณะเดิมหรือมีลักษณะใกล้เคียง รวมถึงมาตราการจูงใจต่างๆ