Abstract:
การศึกษานี้ประเมินฤทธิ์ระงับปวดในระหว่างการผ่าตัดของเฟนตานิลชนิดแผ่นติดผิวหนังเมื่อเปรียบ เทียบกับมอร์ฟีนที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยเปรียบเทียบความเข้มข้นท้ายลมหายใจออกและความเข้มข้นขั้นต่ำของไอโซฟลูเรนในถุงลมปอดที่ต้องการ ขณะผ่าตัดแก้ไขสะบ้าเคลื่อนเข้าด้านในระดับ 2 หรือ 3 จำนวน 20 เข่า ของสุนัข17 ตัว โดยสุ่มจัดสุนัขเข้ากลุ่มมอร์ฟีนให้ได้รับแผ่นติดผิวหนังที่ไม่มียา หรือกลุ่มเฟนตานิลให้ได้รับเฟนตานิลชนิดแผ่นติดผิวหนังที่มีเฟนตานิล (25 มคก/ชม) สุนัข 3 ตัวมีสะบ้าเคลื่อนเข้าด้านในทั้ง 2 ขาจึงถูกจัดเข้าอยู่ในทั้ง 2 กลุ่ม ทำให้มีการผ่าตัด 10 รายในแต่ละกลุ่ม สุนัขทุกตัวได้รับการติดแผ่นติดผิวหนังที่ตอนบนของด้านข้างผนังช่องอกก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ในการวางยาสลบสุนัขกลุ่มมอร์ฟีนได้รับการนำสลบด้วยการฉีดเอซโปรมาซีนขนาด 0.03 มก/กก และมอร์ฟีนขนาด 0.5 มก/กก เข้ากล้ามเนื้อ ขณะที่สุนัขกลุ่มเฟนตานิลได้รับการนำสลบด้วยการฉีดเอซโปรมาซีนขนาดเดียวกันกับกลุ่มมอร์ฟีนและน้ำเกลือในปริมาตรที่เทียบเท่ามอร์ฟีนเข้ากล้ามเนื้อ หลังจากนั้นชักนำสลบด้วยการฉีดโปรโปฟอลฉีดเข้าหลอดเลือดดำและควบคุมระดับความลึกของการสลบด้วยไอโซฟลูเรนในออกซิเจนและการช่วยหายใจ การเฝ้าระวังการสลบและการวัดค่าต่างๆ ในสุนัขทุกตัวกระทำโดยคนเดียวกันที่ไม่ทราบชนิดของแผ่นติดผิวหนังและยาที่ใช้นำสลบ สุนัขได้รับการเฝ้าระวังสัญญาณชีพและบันทึกความเข้มข้นของไอโซฟลูเรนท้ายลมหายใจออกและความเข้มข้นขั้นต่ำของไอโซฟลูเรนในถุงลมปอดก่อนกรีดผ่าผิวหนังเป็นค่าก่อนผ่าตัดและหลังกรีดผ่าทุก 5 นาทีเป็นค่าระหว่างผ่าตัด สะบ้าเคลื่อนทุกรายได้รับการแก้ไขโดยผู้ผ่าตัดและวิธีเดียวกัน ค่าเฉลี่ย±ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่ามัธยฐาน) ของค่าก่อนผ่าตัดและค่าระหว่างผ่าตัดของความเข้มข้นขั้นต่ำของไอโซฟลูเรนในถุงลมปอดสำหรับกลุ่มมอร์ฟีนมีค่าเท่ากับ 1.22±0.25% (1.2%) และ 1.1±0.27% (1.1%) ตามลำดับ และสำหรับกลุ่มเฟนตานิลมีค่าเท่ากับ 1.1±0.31% (1.05%) และ 1.1±0.26% (1%) ตามลำดับ ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > 0.05) ระหว่างค่าที่วัดก่อนผ่าตัดและที่วัดระหว่างผ่าตัดของความเข้มข้นขั้นต่ำของไอโซฟลูเรนในถุงลมปอดในแต่ละกลุ่มและระหว่างกลุ่ม แสดงว่าการให้เฟนตานิลผ่านผิวหนังกับการให้มอร์ฟีนฉีดเข้ากล้ามเนื้อมีฤทธิ์ระงับปวดระหว่างผ่าตัดเท่าเทียมกัน โดยสรุปเฟนตานิลชนิดแผ่นติดผิวหนังสามารถใช้ก่อนมีการกระตุ้นให้เกิดความปวดเพื่อลดความเข้มข้นของไอโซฟลูเรนที่ต้องการระหว่างผ่าตัด