Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการของการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่อดีตจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2554 และศึกษากระบวนการกลายเป็นสินค้าของประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานีโดยการวิเคราะห์จากเอกสารทางวิชาการ บทความ การสัมภาษณ์ผู้รู้และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีแห่เทียน รวมทั้งวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของช่วงก่อนที่ประเพณีแห่เทียนพรรษาจะกลายเป็นสินค้าและช่วงที่ประเพณีแห่เทียนพรรษาได้กลายเป็นสินค้า
การวิเคราะห์ใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองของสำนักมาร์กซิสต์เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำให้เป็นสินค้าโดยเฉพาะประเด็นการผันเปลี่ยนจากมูลค่าใช้สอย(Use value) มาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange value) รวมไปถึงการนำแนวคิดการวิเคราะห์กระบวนการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าผ่านอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมตามทัศนะของอะดอร์โนและฮอร์ไคเมอร์ (Theodor Adonor –Max Horkheimer)
ผลการวิจัยพบว่า งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานีมีลักษณะแตกต่างกันใน 2 ช่วงคือ ในช่วงก่อนที่ประเพณีแห่เทียนพรรษาจะกลายเป็นสินค้า การแห่เทียนเกิดจากความเชื่อความศรัทธาตามแนวทางพระพุทธศาสนา เพื่อหวังผลในการถวายเทียนสร้างความเป็นสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว ระยะต่อมาเจ้าเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลางได้นำประเพณีแห่เทียนพรรษามาใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองตามแบบส่วนกลาง จนกระทั่งถึงช่วงที่ประเพณีแห่เทียนพรรษาได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า มีกระบวนการต่างๆที่สลับซับซ้อนโดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ทั้งยังมีบุคคลและหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำให้ประเพณีแห่เทียนกลายเป็นสินค้าผ่านการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต การสร้างมูลค่า และการบริโภค ภายใต้บริบทเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบบทุนนิยม
กล่าวโดยสรุป งานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถูกทำให้เปลี่ยนจากงานบุญหรือประเพณีระดับท้องถิ่นไปสู่การเป็นสินค้าวัฒนธรรมผ่านกระบวนการกลายเป็นสินค้าจากระดับท้องถิ่นไปสู่ระดับนานาชาติผ่านกระบวนการผลิต การสร้างความหมาย เพื่อสร้างแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอันนำมาสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ