Abstract:
งานศึกษาครั้งนี้ จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ในการยกระดับชีวิตของชนชั้นแรงงานทั้งที่เป็นลูกจ้างและเกษตรกรยากจน ให้มีพลังต่อรอง มีพลังต่อสู้ ด้วยการรวมกลุ่มและสร้างฐานเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับรายได้ สวัสดิการ และคุณภาพชีวิต ที่สำคัญการยกระดับชีวิตของคนชั้นล่างเหล่านี้ให้กินดีอยู่ดี เป็นหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้
วิธีการศึกษาของงานวิจัยครั้งนี้ ใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR) โดยการสร้างโครงการทดลองทางสังคม ได้แก่ ธนาคารแรงงาน หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน และบริษัทฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชรจำกัด(มหาชน) และมีแนวคิดทฤษฎีชี้นำในการศึกษาคือ แนวคิดทุนมวลชน (collective capital formation) และแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ส่วนทฤษฎีที่ใช้วิเคราะห์ฐานเศรษฐกิจของลูกจ้างและเกษตรกร ประยุกต์จากทฤษฎีฐานและโครงสร้างส่วนบน (Base and Superstructure) ของ Karl Marx
ผลการศึกษาพบว่า การสร้างฐานเศรษฐกิจของลูกจ้างและเกษตรกรในงานวิจัยนี้ หัวใจอยู่ที่การกระจายกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะ“การกระจายการถือครองทุนให้แก่สมาชิก” ความเป็นไปได้ในการสร้างฐานเศรษฐกิจแรงงาน เริ่มต้นจากการปรับทุกข์ผูกมิตร สร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และพัฒนาไปเป็นการออมของสมาชิกจำนวนมาก เพื่อแปลงไปสู่การสร้างทุนของมวลชนที่สมาชิกเป็นเจ้าของ โดยการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ซึ่งเป็นทุนการเงิน นำไปสู่การลงทุนในทุนการค้า และทุนการผลิตของมวลชน จัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอีก 2 แห่ง คือ หมู่บ้านมั่นคงแรงงานสังคมเพื่อน เป็นฐานเศรษฐกิจของลูกจ้าง ภายใต้แนวคิดหนึ่งครัวเรือนสองวิถีการผลิต และบริษัทมหาชนฟื้นฟูเกษตรกรเมืองเพชร เป็นฐานเศรษฐกิจของเกษตรกร การมีธุรกิจของมวลสมาชิกนำไปสู่กรรมสิทธิ์ร่วม(Common Property) ของสมาชิกในปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น ที่ดิน(โฉนดชุมชน) เครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น และสร้างรายได้ยกระดับฐานเศรษฐกิจให้แก่มวลสมาชิกทั้งฐานที่เป็นค่าจ้าง และไม่ใช่ค่าจ้าง ในรูปแบบค่าจ้างและกำไร พร้อมกับเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ลูกจ้างและเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี โครงการทดลองทางสังคมทั้งสามแห่ง นับเป็นโครงการริเริ่มจัดตั้ง แม้ว่าจะมีหลักการและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวคิดทุนมวลชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุงเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจของมวลชนยืนยันอยู่ได้ภายใต้การแข่งขันแบบทุนนิยม โดยเฉพาะคุณภาพของบุคลากร การมีเทคโนโลยีและนวตกรรม และความคิดความเข้าใจควบคู่กับการมีส่วนร่วมของสมาชิก