Abstract:
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้ทำความตกลงร่วมกันให้ประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนเปิดเสรีการลงทุนในภาคบริการด้านสุขภาพ และเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านสุขภาพโดยตรง การเปิดเสรีทั้ง 2 อย่าง ส่งผลต่อการแข่งขันในธุรกิจโรงพยาบาลที่รุนแรงขึ้น ทำให้โรงพยาบาลเอกชนต้องจ้างแรงงานเพิ่มและใช้ประโยชน์จากแรงงานอย่างสูงสุดเพื่อเพิ่มกำไรและรักษาส่วนแบ่งทางตลาดสุขภาพ ซึ่งหากเกิดการจ้างงานในภูมิภาคก็จะทำให้แรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลเกิดการเคลื่อนย้ายเข้าและเคลื่อนย้ายออกมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายแรงงานหากมากเกินไปก็จะกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศไทยได้
งานวิจัยนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาผลกระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจ้างงานแรงงานฝีมือภายใต้ข้อตกลงในการเคลื่อนย้ายแรงงานในประชาคมทางเศรษฐกิจอาเซียน กรณีแพทย์ และพยาบาล โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพแบบพรรณนาวิเคราะห์ เก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 17 คน และข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสาร และสถิติต่างๆ นำมาวิเคราะห์ 3 ส่วน คือ 1) การจ้างงานแรงงานที่มีฝีมือ กรณีแพทย์ และพยาบาล 2) การเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือภายใต้การดำเนินการตามข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัตินักวิชาชีพของอาเซียน (MRAs) กรณีสาขาวิชาชีพแพทย์ และพยาบาล และ 3) ผลกระทบด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่า การจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนไทยสามารถเลือกจ้างงาน และใช้ประโยชน์แรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลจากประเทศอื่นในอาเซียนได้มากขึ้น โดยรัฐเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนนายทุนโรงพยาบาลเอกชนให้ได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้นผ่านนโยบาย และการลดกฎระเบียบต่างๆ ส่วนในด้านการเคลื่อนย้ายออกของแรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลไทยมีโอกาสมากขึ้นในการเคลื่อนย้ายออกไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าจ้างที่สูงกว่า หากไม่มีการดูแลปริมาณการเคลื่อนย้ายออกย่อมส่งผลต่อการเพิ่มปัญหาขาดแคลนแรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้น สำหรับการเคลื่อนย้ายเข้าในระยะสั้นเป็นการยากเนื่องจากติดข้อจำกัดตามกฎหมายของประเทศไทย แต่ระยะยาวความจำกัดด้านปริมาณ และความสามารถของแรงงานในประเทศอาจจะผลักดันให้เกิดการนำแรงงานวิชาชีพแพทย์ และพยาบาลจากประเทศอื่นในอาเซียนเข้ามาทำงานประเทศไทย ซึ่งหากไม่มีการดูแลอาจจะส่งผลต่อการได้แรงงานที่ไม่มีคุณภาพ และปัญหาอื่นๆ ที่มาพร้อมกับการเคลื่อนย้ายเข้ามาของวิชาชีพแพทย์ และพยาบาล ดังนั้น ประเทศไทยต้องมีนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมในผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ