Abstract:
ในปีพ.ศ.2551 สหภาพยุโรปออกกฎหมายสหภาพยุโรปว่าด้วยการค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาการบิน (EU ETS Directive) ซึ่งให้นำระบบการค้าสิทธิการค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป (EU Emission Trading System : EU ETS) มาใช้กับสายการบินทุกสายที่บินเข้าออกท่าอากาศยานในสหภาพยุโรป เพื่อช่วยให้สหภาพยุโรปบรรลุเป้าหมายในการลดและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโตและตามเป้าหมายที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ ภายใต้ระบบ EU ETS สายการบินจะได้รับจัดสรรก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยได้ในแต่ละปี และจะต้องจัดซื้อหาใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มหากปล่อยเกินโควตาที่ได้รับหากสายการบินใดไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 100 ยูโรต่อตันคาร์บอนหรือต้องห้ามดำเนินการบินภายในสหภาพยุโรป การบังคับใช้ระบบดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการการบินทำให้มีต้นทุนในการประกอบการสูงขึ้นหากต้องซื้อใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่ม อีกทั้งมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปผ่านการขนส่งทางอากาศและการบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน กฎหมาย EU ETS Directive จึงได้รับการคัดค้านจากสายการบินและรัฐบาลของหลายประเทศ โดยเห็นว่าระบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและความตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 (อนุสัญญาชิคาโก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่สหภาพยุโรปบังคับใช้ EU ETS Directive นอกอาณาเขตโดยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอากาศยานที่บินอยู่นอกสหภาพยุโรปด้วย
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผู้เขียนมุ่งที่จะศึกษาการสอดคล้องของ EU ETS กับความตกลงระหว่างประเทศ 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ.1944 ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 และการตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ โดยวิเคราะห์คำตัดสินของศาลสหภาพยุโรปประกอบกับคำตัดสินขององค์การระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก และ มติสมัชชา ICAO ที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่าระบบการค้าสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสาขาการบินของสหภาพยุโรปไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ค.ศ. 1944 ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ. 1994 และความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ผู้เขียนจึงได้เสนอแนะว่าประเทศไทยควรมีมาตรการเพื่อรองรับการบังคับใช้ระบบ EU ETS เช่น การเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อขอขยายระยะเวลาใช้บังคับกฎหมายหรือผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงสูตรคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ให้ประโยชน์แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา เป็นต้น