Abstract:
การศึกษาภาวะข้อกระดูกเสื่อมในสุนัขนี้มีจุดมุ่งหมายในการประเมินประสิทธิภาพของฟิโรคอซสิบและคาร์โปรเฟนในการรักษาภาวะข้อกระดูกเสื่อมในสุนัข เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเลือกใช้ยาในการรักษาภาวะข้อกระดูกเสื่อม โดยทำการศึกษาในสุนัขสุขภาพดี น้ำหนักตัว 25-40 กิโลกรัม และมีอายุ 5 ปีขึ้นไป จำนวน 34 ตัว แบ่งสุนัขออกเป็นกลุ่มควบคุมซึ่งไม่ได้รับยา 2 กลุ่มคือ กลุ่มควบคุมเชิงลบซึ่งไม่พบภาวะข้อกระดูกสะโพกเสื่อม และกลุ่มควบคุมเชิงบวกซึ่งพบภาวะข้อกระดูกสะโพกเสื่อม จำนวนกลุ่มละ 9 ตัว และกลุ่มทดลองซึ่งพบภาวะข้อกระดูกสะโพกเสื่อมทั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับฟิโรคอซสิบจำนวน 9 ตัว และกลุ่มที่ได้รับคาร์โปรเฟนจำนวน 7 ตัว ใช้ระยะเวลาในการศึกษา 16 สัปดาห์ โดยสุนัขในกลุ่มทดลองจะได้รับยาวันละ 1 ครั้ง ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นปรับการให้ยาเป็นวันเว้นวันในสัปดาห์ที่ 3-8 (เป็นเวลา 6 สัปดาห์) และเป็นวันเว้น 2 วันในสัปดาห์ที่ 9-16 (เป็นเวลา 8 สัปดาห์) ประเมินผลการรักษาโดยการตรวจระดับตัวชี้วัดทางชีวภาพของภาวะข้อกระดูกเสื่อมชนิดไฮยาลูโรแนนและคอนดรอยตินซัลเฟตอิพิโทปชนิด WF6 ในซีรัม การตรวจทางโลหิตวิทยาและชีวเคมี รวมทั้งการตรวจร่างกาย การวัดพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อ การให้คะแนนความเจ็บปวด การตรวจปัสสาวะและอุจจาระ และการถ่ายภาพรังสีข้อสะโพก ร่วมกับการประเมินอาการและความพึงพอใจของเจ้าของสุนัข ในสัปดาห์ที่ 0, 2, 4, 8, 12 และ 16 หลังได้รับยา สำหรับกลุ่มควบคุมทำการตรวจร่างกาย วัดพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ตรวจระดับตัวชี้วัดทางชีวภาพ โลหิตวิทยาและชีวเคมี ร่วมกับการถ่ายภาพรังสี ในสัปดาห์ที่ 0, 4, 8, 12 และ 16 จากการประเมินพบว่าระดับไฮยาลูโรแนนในกระแสเลือดระหว่างกลุ่มควบคุมเชิงลบและกลุ่มที่ได้รับฟิโรคอซสิบในสัปดาห์ที่ 16 หลังได้รับยามีความแตกต่างกัน (p<0.05) สำหรับระดับ WF6 ในกลุ่มที่ได้รับฟิโรคอซสิบมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงสัปดาห์ที่ 12 ก่อนจะลดลงในสัปดาห์ที่ 16 ส่วนกลุ่มที่ได้รับ คาร์โปรเฟนมีแนวโน้มลดลงในสัปดาห์ที่ 2 แล้วจึงเพิ่มสูงขึ้น พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ในกลุ่มที่ได้รับฟิโรคอซสิบสามารถงอข้อสะโพกได้มากขึ้นในสัปดาห์ที่ 2, 4 และ 16 เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา (p<0.05) ส่วนกลุ่มที่ได้รับคาร์โปรเฟนสามารถเหยียดข้อสะโพกได้มากขึ้น ในสัปดาห์ที่ 2, 8 และ 12 หลังได้รับยา (p<0.05) สำหรับค่าเฉลี่ยของคะแนนความเจ็บปวดของทั้ง 2 กลุ่มในแต่ละท่าลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการรักษา (p>0.05) ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของรอยโรคจากภาพถ่ายรังสีก่อนและหลังการรักษา จากการตรวจร่างกาย โลหิตวิทยาและชีวเคมี ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ ไม่พบผลไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาทั้ง 2 ชนิด และเจ้าของสุนัขที่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับฟิโรคอซสิบมีความพึงพอใจกับอาการของสุนัขหลังได้รับการรักษามากกว่าเจ้าของในกลุ่มที่ได้รับคาร์โปรเฟน