Abstract:
เอนไซม์เบตาแลคทาเมสชนิดฤทธิ์ขยาย (extended-spectrum beta-lactamases; ESBLs) สร้างมาจากยีนบนพลาสมิดของแบคทีเรียแฟมิลี่ Enterobacteriaceae โดยเฉพาะเชื้อ Escherichia coli (E. coli) เอนไซม์นี้สามารถไฮโดรไลซิสยาต้านแบคทีเรียกลุ่มเบตาแลคแทมได้เกือบทั้งกลุ่ม และมักก่อให้เกิดการดื้อยาต้านแบคทีเรียหลายกลุ่มพร้อมกัน (multidrug resistance; MDR) ปัจจุบันมีรายงานทางระบาดวิทยาทั่วโลกมากขึ้น แต่ข้อมูลการศึกษาในสัตว์เลี้ยงยังมีไม่มากนัก ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของ ESBLs ในตัวอย่างเชื้อ E. coli ที่ได้จากสุนัขและแมวป่วย จำนวน 250 ตัวอย่าง และความสัมพันธ์ระหว่าง ESBLs และการเกิด MDR ผลการศึกษาพบว่า อุบัติการณ์ของตัวอย่างเชื้อ E. coli ที่มีความสามารถในการสร้าง ESBLs ในสุนัขและแมวป่วย เท่ากับ 32.80% (82 ตัวอย่าง) ซึ่ง 79.27% มาจากสุนัข (65 ตัวอย่าง) และ 20.73% มาจากแมว (17 ตัวอย่าง) นอกจากนี้ยังพบว่า 100% ของเชื้อที่มีความสามารถในการสร้าง ESBLs เกิด MDR ซึ่งพบการดื้อต่อยา 3, 4, 5, 6 และ 7 กลุ่มพร้อมกันเท่ากับ 3.7%, 14.6%, 17.1%, 39.0% และ 25.6% ตามลำดับ โดยกลุ่มยาที่เชื้อมักดื้อยา ได้แก่ beta-latams (100%), fluoroquinolones (96.34%), tetracyclines (90.24%), aminoglycosides (84.15%), phenicols (84.15%) และ potentiated sulfonamides (78.05%) แต่ดื้อต่อยากลุ่ม furans ในระดับปานกลาง (34.15%) จากการศึกษานี้สรุปได้ว่า ในสุนัขและแมว พบอุบัติการณ์ของเชื้อ E. coli ที่มีความสามารถในการสร้างเอนไซม์เบตาแลคทาเมสชนิดฤทธิ์ขยายมากกว่าที่มีรายงานในสัตว์เลี้ยงทั่วโลก และเอนไซม์เบตาแลคทาเมสชนิดฤทธิ์ขยาย มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดการดื้อยาต้านแบคทีเรียหลายกลุ่มพร้อมกัน โดยเชื้อส่วนใหญ่ดื้อต่อยากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษาสุนัขและแมว ข้อมูลจากการวิจัยในครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลทางระบาดวิทยา เพื่อวางแผนเฝ้าระวังเชื้อแบคทีเรียที่มีความสามารถในการสร้าง ESBLs ในประเทศไทยต่อไป