Abstract:
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินอิทธิพลของชนิดของเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดต่อความหยาบพื้นผิวของเรซินซีเมนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปภายหลังการจำลองการดื่มเครื่องดื่ม วิธีการ: สร้างชิ้นงานเรซินซีเมนต์ 8 กลุ่ม กลุ่มละ 13 ชิ้น บูรณะชิ้นงาน 4 กลุ่มแรกด้วยเรซินซีเมนต์เอ็นเอ็กซ์ 3 เน็กซัส® และบูรณะชิ้นงาน 4 กลุ่มที่เหลือด้วยเรซินซีเมนต์รีลาย เอ็กซ์ ยูนิเซ็ม 2® วัดค่าความหยาบพื้นผิวเฉลี่ยเชิงเส้น (Ra) ก่อนการจำลองการดื่มเครื่องดื่ม แล้วนำชิ้นงานแต่ละกลุ่มไปจำลองการดื่มเครื่องดื่มเสมือนจริงแบบถี่บ่อยด้วยเครื่องดื่มเย็นแต่ละชนิด ได้แก่ โค้ก® ลิปตันไอซ์ที® และน้ำส้มเขียวหวานทิปโก้® เป็นเวลา 10 วัน ทั้งนี้ เครื่องดื่มเย็นแต่ละชนิดจะผ่านการวัดค่าความเป็นกรดเบสและไทเทรตความเป็นกรดที่อุณหภูมิห้องก่อนการจำลองการดื่มเครื่องดื่ม วัดค่าความหยาบพื้นผิวเฉลี่ยเชิงเส้นของชิ้นงานแต่ละชิ้นอีกครั้ง ก่อนนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอนชนิดส่องกราดเพื่อประเมินลักษณะผิวหน้า นำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง ร่วมกับแพร์ที-เทส และสถิติลีวีน ผลการทดลอง: โค้ก® (ค่าความเป็นกรดเบส=2.55) ลิปตันไอซ์ที® (ค่าความเป็นกรดเบส=3.05) และน้ำส้มเขียวหวานทิปโก้® (ค่าความเป็นกรดเบส=3.58) ทำให้ผิวหน้าของเรซินซีเมนต์มีความหยาบพื้นผิวเฉลี่ยเชิงเส้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001 ทุกกลุ่มการทดลอง) โดยชนิดของเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดมีผลต่อความหยาบพื้นผิวของเรซินซีเมนต์ (p<0.001) ในขณะที่ชนิดของเรซินซีเมนต์ไม่มีผลต่อความหยาบพื้นผิวที่เพิ่มขึ้น (p=0.299) ความสามารถของเครื่องดื่มในการทำให้ผิวหน้าของเรซินซีเมนต์มีความหยาบเพิ่มขึ้นขึ้นกับค่าความเป็นกรดเบส กล่าวคือ เครื่องดื่มที่มีค่าความเป็นกรดเบสต่ำกว่า จะทำให้พื้นผิววัสดุมีความหยาบเพิ่มขึ้นได้มากกว่า ภาพกำลังขยาย 10,000 เท่าของพื้นผิววัสดุแสดงให้เห็นว่าเรซินซีเมนต์ภายหลังการจำลองการดื่มเครื่องดื่มมีผิวหน้าขรุขระมากขึ้น สรุป: เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้พื้นผิวของเรซินซีเมนต์มีความหยาบเพิ่มขึ้น ยิ่งเครื่องดื่มมีค่าความเป็นกรดเบสต่ำเท่าใด ก็จะทำให้เรซินซีเมนต์มีความหยาบพื้นผิวเพิ่มขึ้นเท่านั้น