Abstract:
สุขภาพของมารดาตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของมารดาในระยะตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด และ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของมารดาในระยะตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลจาก “โครงการสำรวจอนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ. 2552” ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ สตรีที่มีอายุระหว่าง 15-49 ปี และให้กำเนิดบุตรภายใน 1 ปีก่อนวันสำรวจที่ตอบแบบสอบถามด้วยตัวเอง จำนวนทั้งสิ้น 2,300 ราย และการศึกษาครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิภาค (Binary Logistic Regression Analysis)
ผลการศึกษาพบว่า มารดาที่มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ในระยะตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดมีเพียงร้อยละ 40.83 และพบว่าอายุมารดา ระดับการศึกษา ความต้องการตั้งครรภ์บุตรคนสุดท้อง การได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน อายุสามี และการมีส่วนร่วมของสามีในการรับคำแนะนำดูแลแม่และบุตรมีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมสุขภาพของมารดาแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 นอกจากนี้ภายหลังการควบคุมตัวแปรอิสระตัวอื่นๆ พบว่า จำนวนครั้งที่ตั้งครรภ์ ความต้องการตั้งครรภ์บุตรคนสุดท้อง การได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือน และการมีส่วนร่วมของสามีในการรับคำแนะนำดูแลแม่และบุตรเท่านั้นที่มีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของมารดา โดยมารดาที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก มีความต้องการตั้งครรภ์ในครั้งนั้น ได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันหรือจากนายจ้าง มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และสามีเคยมีส่วนร่วมรับคำแนะนำดูแลแม่และบุตรมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ในระยะตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ