Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของน้ำในระบบผลิตน้ำประปา รวมทั้งประเมินประสิทธิภาพของระบบ โดยเก็บตัวอย่างน้ำ 5 จุด ในระบบผลิตน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำประปาสามเสน ซึ่งได้แก่ น้ำดิบ น้ำที่ผ่านกระบวนการตกตะกอนและเติมคลอรีนขั้นต้น น้ำล้างทรายกอง น้ำที่ผ่านการกรอง และน้ำประปา ตลอดปี พ.ศ. 2544 เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางกายภาพและเคมีบางประการ ส่วนปัจจัยทางชีวภาพได้ศึกษาความหนาแน่นของสาหร่ายที่จุดเก็บตัวอย่างน้ำต่างๆ จากการวิเคราะห์พบว่า ค่าเฉลี่ยตลอดปีของพารามิเตอร์ต่างๆ ในน้ำดิบได้แก่ อุณหภูมิ 29.5 ํซ ค่าความเป็นกรด-เบส 7.28 ค่าการนำไฟฟ้า 230 micro S/cm. ค่าความขุ่น 104 NTU ค่าออกซิเจนคอนซูม 4.12 มก./ล. ค่าออกซิเจนละลาย 5.71 มก./ล. และปริมาณไนเตรต 0.23 มก./ล. ผลการศึกษาสาหร่าย พบว่าสาหร่ายที่ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำประปา มีกลุ่มเด่นอยู่ใน 3 ดิวิชัน ได้แก่ สาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง (Division Chrysophyta) สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Division Cyanophyta) และสาหร่ายสีเขียว (Division Chlorophyta) สาหร่ายสีน้ำตาลแกมทอง คลาสที่พบมากที่สุดคือ Bacillariophyceae หรือกลุ่มไดอะตอม สกุลที่พบมากที่สุดคือ Nitzschia sp. ตามด้วย Cymbella sp. สำหรับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สกุลที่พบมากที่สุดคือ Oscillatoria sp. และ Phormidium sp. ส่วนสาหร่ายสีเขียว สกุลที่พบมากที่สุดคือ Chlorella sp. และ Closterium sp. ประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตน้ำประปาเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังสามารถกำจัดการปนเปื้อนของสาหร่ายได้ถึงร้อยละ 99.52 อย่างไรก็ตาม ยังพบสาหร่ายปนเปื้อนในน้ำประปา ในจำนวนเล็กน้อย สกุลที่พบ เช่น Oscillatoria sp., Phormidium sp., และ Achnanthes sp.