Abstract:
กาวไฟบรินถูกใช้ในการทำศัลยกรรมอย่างกว้างขวาง เพื่อช่วยห้ามเลือดและประสานเนื้อเยื่อ การศึกษาครั้งนี้แบ่งเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 การตรวจสอบผลของวงรอบการเป็นสัดต่อระดับไฟบริโนเจนในแกะ โดยใช้แกะเพศเมียจำนวน 10 ตัว ในการเปรียบเทียบระดับไฟบริโนเจนระยะเป็นสัดและระยะไดเอสตรัส ผลการศึกษาไม่พบความแตกต่างกันของระดับไฟบริโนเจนอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) ดังนั้นสามารถพัฒนากาวไฟบรินได้จากแกะทุกช่วงของระยะการเป็นสัด การทดลองที่ 2 ศึกษาประสิทธิภาพของกาวไฟบรินจากเลือดแกะในการห้ามเลือดทั้งภายนอกและภายในร่างกายของสุกรจำนวน 6 ตัว ผลการศึกษาภายนอกร่างกายพบว่าระยะเวลาที่เลือดเริ่มแข็งตัวบนแผ่นสไลด์ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองเป็น 201.1±90.47 และ 4.43±3.73 วินาที และเลือดแข็งตัวโดยสมบูรณ์ที่ 447.83±63.77 และ 31.93±4.28 วินาทีตามลำดับ ผลการศึกษาประสิทธิภาพของกาวไฟบรินภายในร่างกายสุกรโดยการห้ามเลือดที่ตับระหว่างการทำศัลยกรรมตัดชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจ พบว่าปริมาตรการตกเลือดซึ่งวิเคราะห์จากน้ำหนักกระดาษกรองที่เพิ่มขึ้นจากการซับเลือดภายหลังการตัดชิ้นเนื้อตับมีค่า 0.94±0.38 และ 0.1±0.12 กรัม และระยะเวลาตกเลือดเท่ากับ 175.18±11.80 และ 68.08±28.84 วินาที ในกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองตามลำดับ โดยระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวนอกร่างกาย ปริมาตรการตกเลือด และระยะเวลาตกเลือดระหว่างศัลยกรรมตัดชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจในกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (p<0.01) จากการศึกษานี้สรุปได้ว่ากาวไฟบรินจากเลือดแกะมี ประสิทธิภาพในการห้ามเลือดระหว่างการศัลยกรรมตัดชิ้นเนื้อตับเพื่อตรวจในสุกร