Abstract:
พอร์ซเลนที่ใช้ในงานฟันปลอมชนิดติดแน่นหลังการกรอแต่ง จำเป็นจะต้องขัดผิวและเคลือบผิว แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถนำชิ้นงานไปเคลือบผิวซ้ำได้ ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการขัดผิวด้วยวิธีการที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าวิธีการขัดผิวพอร์ซเลนได้มีการพัฒนาให้สามารถขัดผิวได้เรียบมันเทียบเท่ากับการเคลือบผิว แต่ก็ต้องคำนึงถึงการติดคราบสีของพอร์ซเลนที่ไม่ได้เคลือบผิวด้วย การวิจัยนี้จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบเสถียรภาพของสีเฟลสปาติกพอร์ซเลน วิต้า โอเมก้า 900 ที่ขัดผิวด้วยวิธีการต่างๆ และประเมินเสถียรภาพของสี ตามข้อกำหนดเลขที่ 69 ว่าด้วยเซรามิกทางทันตกรรม ของสมาคมทันตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา โดยเตรียมชิ้นงานพอร์ซเลนเป็นแผ่นรูปวงกลม จำนวน 80 ชิ้น แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 20 ชิ้น กลุ่มหนึ่งนำไปเคลือบผิวแบบธรรมชาติ และอีก 3 กลุ่มนำไปขัดผิว 3 วิธี (หัวขัดเซราโพล, ชุดหัวขัดโชฟุและครีมขัดผสมกากเพชร, ชุดหัวขัดโชฟุและหัวขัดไดฟินิช) แบ่งชิ้นงานในแต่ละกลุ่ม 10 ชิ้น จุ่มในสารละลายเมทธิลีนบลู อีก 10 ชิ้น จุ่มในน้ำกลั่นเพื่อเป็นกลุ่มควบคุม วัดค่าสีในระบบสีซีไออี (CIE Lab) ก่อนและหลังจุ่มสารละลายโดยใช้เครื่องสเปกโตรโฟโตมิเตอร์ แล้วคำนวณค่าความแตกต่างของสี (triangleE) ผลการประเมินความเรียบโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอนชนิดส่องกราด พบว่าการเคลือบผิวแบบธรรมชาติจะให้ผิวเรียบที่สุด และการขัดผิวด้วยชุดหัวขัดโชฟุและหัวขัดไดฟินิชจะให้ผิวที่เรียบกว่าวิธีอื่น จากการเปรียบเทียบค่าความแตกต่างของสีของแต่ละกลุ่มด้วยสถิติ ANOVA และ Tukey's HSD test พบว่า กลุ่มที่เคลือบผิวแบบธรรมชาติไม่มีการเปลี่ยนสี แต่กลุ่มที่ขัดผิวด้วยหัวขัดเซราโพลมีการเปลี่ยนสีที่สามารถสังเกตเห็นได้ โดยมีความแตกต่างของสีมากกว่าทุกกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ขัดผิวด้วยชุดหัวขัดโชฟุแล้วขัดตามด้วยครีมขัดผสมกากเพชร และหัวขัดไดฟินิช โดยการเปลี่ยนสีของพอร์ซเลนทั้งสองกลุ่มสามารถยอมรับได้ทางคลินิก