Abstract:
การโฆษณาที่แพร่หลายในรูปของการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยไม่ชี้แจงว่าเป็นการโฆษณาและแสดงตนเองเป็นผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและหลงผิดในสถานะของผู้วิจารณ์และเข้าใจว่าการวิจารณ์นั้นไม่ใช่การโฆษณา ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการโฆษณาจูงใจด้วยวิธีที่หลอกลวงซึ่งเป็นการบิดเบือนต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภคอีกทั้งยังเป็นการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งส่งผลเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจอื่น
จากการศึกษาวิจัยกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาของไทยพบว่ายังไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงการโฆษณาที่แฝงมาในรูปของการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อจูงใจผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดความแพร่หลายของการทำโฆษณาในลักษณะดังกล่าวที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค และยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นจากการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวซึ่งถือเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าของไทยยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้รูปแบบพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจัดทำไว้ยังไม่มีรูปแบบใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวได้ อีกทั้งรูปแบบที่จัดทำไว้นั้นไม่มีสถานะในทางกฎหมาย เมื่อพิจารณาถึงกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และสาธารณรัฐสิงคโปร์ พบว่าการโฆษณาโดยวิธีใดๆ ที่ไม่ชี้แจงว่าเป็นการโฆษณาและการโฆษณาที่แสดงตนเองเป็นผู้บริโภคถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจอื่นด้วย
ผู้วิจัยจึงเสนอแนะเพิ่มเติมบทบัญญัติ ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้การโฆษณาด้วยข้อความหรือวิธีการใดๆ ที่ประชาชนอาจหลงผิดเข้าใจว่าไม่ใช่การโฆษณาจะต้องมีถ้อยคำชี้แจงกำกับว่าข้อความดังกล่าวเป็นการโฆษณาเพื่อสร้างความชัดเจนแก่ผู้บริโภคว่าการกระทำหรือข้อความใดเป็นการโฆษณา และเสนอแนะแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงกับเรื่องอื่นใดๆ ได้ โดยเฉพาะการโฆษณาแฝงในรูปของการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่ผู้ประกอบธุรกิจว่าพฤติกรรมทางการค้าใดที่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และนำรูปแบบพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจัดทำไว้ มาบัญญัติเป็นกฎกระทรวงเพื่อให้มีผลทางกฎหมาย รวมถึงเสนอให้เพิ่มเติมรูปแบบพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมเพื่อนำมาบังคับใช้กับการโฆษณาที่แฝงมากับการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต