Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาผลการยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ ATCC 25175 และ TPF-1 ในห้องปฏิบัติการ ด้วยสารสกัดจากสมุนไพรชนิดต่างๆ สมุนไพรที่นำมาทดสอบ ได้แก่ ข่อย, ชา, ชุมเห็ดเทศ, ฟ้าทะลายโจร, ฝรั่ง และสีฟันคนทา โดยสกัดด้วยเอธานอล 50% หรือ 95% และอบแห้ง การวิจัยในส่วนแรกเป็นการทดสอบสารสกัดจากสมุนไพรที่ความเข้มข้น 0.5% โดยน้ำหนักต่อปริมาตร ในการยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อกับผิวแก้วเพื่อเป็นการคัดแยก จากนั้น นำสารสกัดจากสมุนไพรที่ให้ผลยับยั้งการยึดเกาะกับผิวแก้ว ไปทำการทดสอบการยึดเกาะกับไฮดรอกซีอะพาไทท์ที่เคลือบด้วยน้ำลาย โดยใช้เชื้อแบคทีเรียติดฉลากสารรังสี เพื่อหาชนิดและความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารสกัดจากสมุนไพรที่ให้ผลยับยั้งการยึดเกาะ และศึกษากลไกการยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อ โดยการทดสอบผลของสารสกัดจากสมุนไพรที่ความเข้มข้นดังกล่าว ต่อการทำงานของเอนไซม์กลูโคซิลทรานสเฟอเรสและกลูแคนไบน์ดิงเลคติน ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดจากสมุนไพรทุกชนิด ยกเว้นข่อย มีผลยับยั้งการยึดเกาะกับผิวแก้วของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ และเมื่อนำไปทดสอบกับไฮดรอกซีอะพาไทท์ที่เคลือบด้วยน้ำลาย พบว่า ชา, ชุมเห็ดเทศ, ฟ้าทะลายโจร และสีฟันคนทา มีผลยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อ ATCC 2517 โดยชาให้ผลยับยั้งสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร, ชุมเห็ดเทศ และ สีฟันคนทา ตามลำดับ ขณะที่ชุมเห็ดเทศและฟ้าทะลายโจร มีผลยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อ TPF-1 โดยทั้ง 2 ชนิดให้ผลยับยั้งใกล้เคียงกัน ความเข้มข้นของสารสกัดจากสมุนไพรที่น้อยที่สุดที่ให้ผลยับยั้งอย่างน้อย 50% ได้แก่ ชา 0.3%, ชุมเห็ดเทศ 0.5%, ฟ้าทะลายโจร 0.5% และสีฟันคนทา 0.5% สำหรับเชื้อ ATCC 25175 และชุมเห็ดเทศ 0.4% และฟ้าทะลายโจร 0.5% สำหรับเชื้อ TPF-1 การทดสอบกลไกการยับยั้ง พบว่า สารสกัดจากสมุนไพรทุกชนิดที่ความเข้มข้นดังกล่าว มีผลลดแอคติวิตีของเอนไซม์กลูโคซิลทรานสเฟอเรสจากเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ แต่มีเพียงชุมเห็ดเทศและฟ้าทะลายโจร ที่มีผลยับยั้งหรือลดแอคติวิตีของกลูแคนไบน์ดิงเลคตินจากเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ชา, ชุมเห็ดเทศ, ฟ้าทะลายโจร และสีฟันคนทา ให้ผลยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ ATCC 25175 ขณะที่ชุมเห็ดเทศและฟ้าทะลายโจร ใฟ้ผลยับยั้งการยึดเกาะของเชื้อสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ TPF-1 ในห้องปฏิบัติการที่ระดับความเข้มข้นที่ใช้ในงานวิจัยนี้