Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาค่าความแข็งแรงพันธะเฉือน (SBS) ของพอร์ซเลนที่มีลูไซท์ปริมาณสูง (EMP, IPS Empress, Ivoclar) ซึ่งยึดติดกับเฟลด์สปาทิกพอร์ซเลน (FP, Vita VMK 95, Vita Zahnfabrik) หรืออะลูมินัสพอร์ซเลน (AP, Vitadur Alpha, Vita Zahnfabrik) ด้วยเรซินซีเมนต์ (Variolink II, Vivadent) ภายใต้การปรับสภาพผิวต่างกัน โดยเตรียมแผ่นกลม EMP ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.5 มม. หนา 1 มม. จำนวน 600 ชิ้น แบ่งโดยสุ่มเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 120 ชิ้น มีการปรับสภาพผิวดังนี้คือ แบบ A) ไม่ปรับสภาพผิวเป็นกลุ่มควบคุม แบบ B) ขัดเรียบด้วยกระดาษซิลิกอนคาร์บอนไบด์ (3M, USA) แบบ C) กรอด้วยหัวกรอกากเพชรชนิดหยาบ (Jota, Switzerland) แบบ D) กัดด้วยกรดไฮโดรฟลูออริกความเข้มข้นร้อยละ 9.6 (Procelain Etch Gel, Pulpdent) เป็นเวลา 5 นาที และแบบ E) กัดด้วยเจลเอพีเอฟความเข้มข้นร้อยละ 1.23 (Topical Fluoride Gel, Pascal) เป็นเวลา 10 นาที จากนั้นเตรียมแผ่นกลม EP และ AP ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 มม. หนา 1.5 มม. อย่างละ 300 ชิ้น แล้วแบ่ง FP และ AP โดยสุ่มเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 50 ชิ้น (กลุ่ม 1-6 สำหรับ FP และกลุ่ม 7-12 สำหรับ AP) มีการปรับสภาพผิวดังนี้คือ กลุ่ม 1) และ 7) แบบ A กลุ่ม 2) และ 8) แบบ B กลุ่ม 3) และ 9) แบบ C กลุ่ม 4) และ 10) เป่าทรายด้วยผงอะลูมิเนียมออกไซด์ ขนาด 50 ไมครอน ความดัน 0.68 เมกะปาสคาล (MPa) เป็นเวลา 20 วินาที กลุ่ม 5) และ 11) แบบ D และกลุ่ม 6) และ 12) แบบ E นำแผ่นกลม FP และ AP ฝังในอะคริลิกเรซินใสเพื่อเป็นที่ยึดจับ แล้วยึดกับ EMP ด้วยเรซินซีเมนต์ ภายใต้แรงกด 200 กรัม จากนั้นหาค่า SBS ของการยึดติดด้วยเครื่องทดสอบสากล (Instron, model 5583) ความเร็วตัดขวาง 0.2 มม.ต่อนาที . จากนั้นวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวน และการทดสอบแบบทูกีย์ ได้ดังนี้คือ กลุ่ม FP หรือ AP เมื่อยึดติดกับ EMP นั้น การปรับสภาพผิวของพอร์ซเลนทั้งสองชนิดเพื่อให้เกิดความหยาบ จะให้ค่า SBS ที่สูงกว่าเมื่อปรับสภาพผิวพอซ์เลนเพียงชนิดหนึ่งชนิดใด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ยกเว้น กลุ่ม 11A กับกลุ่ม 11B และกลุ่ม 12A กับกลุ่ม 12B (เมื่อพิจารณาตามการปรับสภาพผิวของ EMP) ที่มีค่า SBS ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) และการปรับสภาพผิวเพื่อให้เกิดความหยาบไม่ว่าแบบใดๆ ให้ค่า SBS ที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) การวิจัยนี้มีข้อแนะนำว่า EMP สามารถใช้ซ่อมแซมชิ้นงานที่พอร์ซเลนแตกได้